
“พิชัย” ชี้”เศรษฐกิจไทย”เปราะบางฉุดหุ้นร่วง เร่งดึง FDI–เปิดทาง IPO ต่างชาติฟื้นเชื่อมั่น
“พิชัย” รองนายกฯ มองตลาดหุ้นไทยปรับลงต่อเนื่อง ชี้บริษัทจดทะเบียนไม่ตอบโจทย์อนาคต รัฐเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เร่งดึง FDI ลงทุนครบวงจร-เปิดทาง IPO ต่างชาติฟื้นเชื่อมั่น ปลุก SET กลับสู่ทิศทางขาขึ้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 หัวข้อ อนาคตเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ในวันนี้ (17 พ.ค.68) โดยระบุว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จากระดับ 1,700 จุด ลงมาเรื่อยๆ จนถึงระดับ 1,400 จุด และลงมาที่ 1,200 จุด หรือต่ำกว่านั้น 1,100 จุด ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ประมาณ 1,200 จุด ในปัจจุบัน โดยดัชนีปรับตัวลงมากกว่าตลาดอื่นมองว่าเกิดจากการที่ตลาดหุ้นมองไปในอนาคต และเห็นว่า โครงสร้างของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ตอบสนองกับความต้องการของอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตหรือเรื่องสินค้า
ดังนั้นแนวทางการฟื้นฟูตลาดทุนจำเป็นต้องแก้ไขเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในมิติที่ตอบสนองต่ออนาคต ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามดึงการลงทุนใหม่ในด้านเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเศรษฐกิจ แม้ต้องใช้เวลา แต่หากดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสม เชื่อว่าตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะหนึ่ง ไม่ใช่การปรับขึ้นในปีเดียว แต่เกิดจากความเชื่อมั่นว่าทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศเดินถูกทาง และตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้รัฐบาลจึงมีแผนผลักดันการลงทุนใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อาทิ ไบโอเทค ไบโอแก๊ส และพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งแม้ยังไม่ส่งผลในทันที แต่จะช่วยวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว
นอกจากนี้รัฐบาลจึงมีแผนผลักดันการลงทุนใหม่ในด้านพลังงานทางเลือก อาทิ ไบโอเทค ไบโอแก๊ส และพลังงานหมุนเวียน พร้อมระบุว่าการลงทุนไบโอแก๊ส ประเภทนี้แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยตรงมากนัก แต่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงต้องแก้ปัญหา เพื่อให้พลังงานมีความสม่ำเสมอ ราคาแข่งขันได้ เป็นพลังงานสีเขียว และมีการกระจายไปตามท้องถิ่น
นอกจากนี้รองนายกฯ ยังระบุว่า ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)ได้สูงกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา แม้เผชิญความผันผวนจากปัจจัยภายนอก โดยในระยะต่อไป รัฐบาลจะมุ่งคัดกรองการลงทุนให้ตรงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยเน้นให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัย การผลิต การตลาด และใช้ตลาดทุนไทยเป็นเครื่องมือระดมทุนหลัก
โดยภาครัฐเดินหน้าผลักดันบริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนไทย (IPO) ซึ่งในอดีตมีบริษัทต่างประเทศเพียงไม่ถึง 5% ที่มาลงทุนในไทย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทไทยที่จดทะเบียน เหตุผลคือบริษัทต่างประเทศเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาดำเนินงานครบทั้งวงจร อาทิ งานวิจัย, การผลิต, หรือการตลาดทั้งหมดมาใช้ในไทย แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจทั่วโลก ทำให้คุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์การจดทะเบียนของไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แจ้งต่อผู้ลงทุนต่างชาติว่า หากต้องการจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ควรเข้ามาลงทุนแบบครบวงจร ได้แก่ การจัดตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D), สร้างโรงงานผลิตในประเทศ, มีคนไทยร่วมวิจัย และใช้ไทยเป็นฐานหลัก (Hub) ในการกระจายสินค้าไปทั่วโลก พร้อมทั้งใช้เงินทุนไทยและตลาดทุนไทยเป็นเครื่องมือหลักในการระดมทุน
“หากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเต็มระบบและมีการตั้งฐานการผลิตพร้อมใช้คนไทยร่วมพัฒนาเทคโนโลยี เราก็พร้อมสนับสนุนให้ใช้เงินไทย ใช้ตลาดทุนไทย เพื่อกระจายสินค้าไปทั่วโลก” รองนายกฯ กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดทุนในระยะครึ่งปีหลัง รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลจะยังไม่ออกมาตรการใหม่ในทันที เว้นแต่มีปัจจัยที่จำเป็นอย่างแท้จริง โดยเชื่อมั่นว่าพื้นฐานของตลาดทุนไทยในปัจจุบันเริ่มมีความนิ่งและสามารถประคองตัวได้ นักลงทุนรายย่อยเริ่มกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณบวก
ส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นในสัปดาห์ถัดไปจะมีการหยิบยก “มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม” เข้าสู่การพิจารณา โดยจะพิจารณาภายใต้กรอบนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ในการประชุมครั้งแรก อาจจะเน้นการลงรายละเอียดใน “เรื่องของสั้น” ก่อน ซึ่งรายละเอียดในส่วนระยะสั้นนี้จะมีการระบุอย่างชัดเจนว่า ใครทำใช้เงินเท่าไหร่ เรื่องอะไร และใครคือผู้ดูแลรับผิดชอบ
ส่วน Digital Wallet ที่เหลืออยู่ในบริบทของการทบทวน ขณะที่ประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้ Backed Asset เป็นฐานสำหรับงบประมาณแบบเต็มรูปแบบนั้น รองนายกฯ ระบุว่า การดำเนินการในปัจจุบันเป็นไปตามกรอบกฎหมายเดิม จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมในขั้นนี้