“เรย์ ดาลิโอ” เตือน “พันธบัตรสหรัฐ” เจอเอฟเฟกต์กฎหมายภาษี “ทรัมป์” ดันหนี้สหรัฐพุ่ง

“เรย์ ดาลิโอ” เตือนนักลงทุนควรกังวลต่อภาวะหนี้สหรัฐและการขาดดุลที่รุนแรง 6.5% ของ GDP ขณะที่ “เงินเฟ้อ” เริ่มกลับมากดดันอีกรอบหลังการขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ


สำนักข่าว CNBC รายงานว่า เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) นักลงทุนมหาเศรษฐีชื่อดัง และผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของโลก ออกมาแสดงความกังวลอย่างชัดเจนต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้น โดยระบุว่า ความเสี่ยงในตลาดพันธบัตรรัฐบาลกำลังทวีความรุนแรงและควรเป็นเหตุให้นักลงทุนหวาดหวั่น

“ผมคิดว่าเราควรกลัวตลาดพันธบัตร” ดาลิโอกล่าวในการประชุมของ Paley Media Council ณ นครนิวยอร์ก พร้อมเปรียบเทียบสถานการณ์เสมือนแพทย์ที่เฝ้ามองผู้ป่วยสะสมโรคเรื้อรังจากหนี้สิน “แม้ไม่สามารถระบุเวลาแน่ชัดได้ แต่หากมองไปข้างหน้าใน 3 ปี บวกลบ 1-2 ปี เรากำลังอยู่ในภาวะที่วิกฤติอย่างยิ่ง”

ดาลิโอ กล่าวถึงปัญหาการขาดดุลที่สะสมมาอย่างยาวนาน ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเริ่มเรียกร้องผลตอบแทนที่สูงขึ้นในการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ yield ปรับตัวขึ้น ล่าสุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.14% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2566

ขณะที่สถานะการคลังที่เปราะบางยิ่งทวีความกังวลหลังจาก Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หนี้สาธารณะสหรัฐทะลุ 36 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลกลายเป็นรายจ่ายอันดับสอง รองเพียงประกันสังคม โดยการขาดดุลคาดแตะ 6.5% ของ GDP ซึ่งดาลิโอระบุว่า “เกินขีดที่ตลาดจะรับได้”

นอกจากนี้ ดาลิโอ ยังแสดงทัศนะในแง่ลบต่อแนวโน้มทางการเมือง โดยไม่คาดหวังว่าสภาคองเกรสจะสามารถบรรลุฉันทามติเพื่อลดภาระหนี้ได้ ล่าสุด สภาผู้แทนฯ เพิ่งผ่านร่างกฎหมายลดภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งเสนอโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอยู่ระหว่างการพิจารณาในวุฒิสภา กฎหมายฉบับนี้อาจเพิ่มหนี้รัฐบาลอีกหลายล้านล้านดอลลาร์และซ้ำเติมการขาดดุล

อีกทั้ง ความกังวลด้านเงินเฟ้อก็กลับมากดดันอีกระลอก จากแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ซึ่งมีแนวโน้มจะเร่งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นต่อเนื่อง

“ผมไม่ค่อยมีความหวังนัก ผมต้องยอมรับความจริง” ดาลิโอกล่าวทิ้งท้าย “หัวใจของปัญหาคือการเมืองในประเทศนี้ที่มักจบลงที่ต่างฝ่ายต่างต้องการมากขึ้น ซึ่งเป็นต้นตอของการขาดดุลงบประมาณที่บานปลาย”

Back to top button