สภาไฟเขียว พ.ร.ก.ไซเบอร์ฉบับใหม่ บังคับ “ธนาคาร-ค่ายมือถือ” เยียวยาผู้เสียหาย

สภาฯ มีมติเอกฉันท์ผ่าน พ.ร.ก.ไซเบอร์ฉบับใหม่ บังคับธนาคาร-ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบ เยียวยาผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หวังลดความเสียหายปีละหมื่นล้าน


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสมัยวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สองฉบับสำคัญที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ได้แก่

พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และ

พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า แม้จะมีการออก พ.ร.ก.ฉบับแรกเมื่อปี 2566 แล้ว แต่สถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันยังทวีความซับซ้อน จำเป็นต้องเสริมมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการบัญชีม้า การคืนเงินผู้เสียหายอย่างทันท่วงที และการกำหนดหน้าที่ของธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัลในการร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

การอภิปรายในที่ประชุมมีความเข้มข้น โดย ส.ส. หลายคนให้ความเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ
นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าในการจัดการแก๊งมิจฉาชีพที่เคลื่อนย้ายฐานปฏิบัติการข้ามประเทศ พร้อมเสนอให้รัฐบาลใช้เทคโนโลยีอย่าง AI และเร่งแก้กฎหมายฟอกเงินควบคู่กัน เพื่อให้มาตรการมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน เน้นย้ำว่าปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่เพียงสร้างความเสียหายทางการเงินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบสังคมอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ พร้อมสนับสนุนมาตรา 8/10 ของ พ.ร.ก. ซึ่งกำหนดให้ธนาคาร เครือข่ายโทรศัพท์ และโซเชียลมีเดีย ต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายจากการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ภาคเอกชนเร่งยกระดับระบบความปลอดภัย

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวในที่ประชุมว่าการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันทั้งในระดับโครงสร้างอาชญากรรมข้ามชาติและภายในประเทศ โดยเน้นว่าควรใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการป้องกัน มิใช่ผลักภาระให้ประชาชนต้องต่อสู้กับปัญหาเพียงลำพัง พร้อมเสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานกลางในการคืนเงิน และเรียกร้องให้ภาครัฐแสดงความจริงจังในการดำเนินคดีกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับขบวนการอาชญากรรมดังกล่าว

ภายหลังการอภิปราย ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติรับรอง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 452 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และเห็นชอบ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยคะแนน 453 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

ทั้งนี้ สมาชิกสภาฯ ยังฝากความคาดหวังให้รัฐบาลเร่งจัดทำกฎหมายลำดับรองและกฎกระทรวง เพื่อให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้จริงโดยเร็ว พร้อมจับตาประสิทธิภาพในการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

Back to top button