
“กอบศักดิ์” เร่งปลดล็อกพลังเอกชน-ชุมชน ผนึก BOI ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เสนอโมเดล “เอกชน–ชุมชน–มาตรการรัฐ” ชี้ต้องเปลี่ยนแนวคิดพัฒนาสังคมจากการ “โอนเงิน” สู่การ “ปลุกพลัง” ผ่านกลไก BOI เพื่อสร้างต้นแบบการเติบโตแบบยั่งยืน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวในเวทีสัมมนา “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ปีที่ 2” (The 2nd Multilateral Collaboration for Sustainability: Continuing the Impact) ว่า การพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต้องอาศัย “พลังของเอกชน” ร่วมกับ “ชุมชนที่เข้มแข็ง” ภายใต้กลไกสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพจากรัฐ
โดยขณะนี้ทั่วโลกกำลังเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมายภายในปี 2568 แต่ความคืบหน้าโดยเฉลี่ยยังอยู่เพียง 17% เท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาในลักษณะเดิมยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็น “ความยากจน” ซึ่งไทยแม้จะสามารถลดจำนวนผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจาก 4 ล้านครัวเรือน เหลือ 1 ล้านครัวเรือน แต่เมื่อหักเงินอุดหนุนรัฐออก พบว่ายังมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถยืนหยัดด้วยรายได้ของตนเอง
“หากรัฐต้องแจกเงินขั้นต่ำเดือนละ 3,000 บาทให้ประชาชนทุกคนในประเทศ จะใช้งบกว่า 2.3 ล้านล้านบาทต่อปี หรือกว่า 60% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งไม่สามารถเดินหน้าได้ในระยะยาว” ดร.กอบศักดิ์กล่าว พร้อมระบุว่า “การโอนเงินไม่ใช่คำตอบ แต่การปลดปล่อยพลังของชุมชนต่างหากคือทางรอด”
สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่เอกชนเข้าไปหนุนเสริมชุมชนอย่างเป็นระบบ อาทิ “ปั้นคลิป” ผลิตภัณฑ์พริกทอดสมุนไพร จากยอดขายเดือนละ 300,000 บาท เพิ่มเป็น 3 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุนช่องทางขาย แบรนด์ และการบริหารธุรกิจจากภาคเอกชน
อย่างเช่น “ไก่ย่างจีระพันธ์” แบรนด์ท้องถิ่นที่เริ่มต้นจากรายได้ปีละ 4 ล้านบาท เติบโตสู่ยอดขาย 200 ล้านบาทต่อปี เมื่อได้รับโอกาสขยายผ่านปั๊ม ปตท. ซึ่งถือเป็นช่องทางกระจายสินค้า (Distribution Channel) ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
“นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า เอกชนคือคนที่เข้าใจตลาด เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และสามารถออกแบบกลยุทธ์ให้สินค้าชุมชนเติบโตได้จริง ไม่ใช่แค่ให้เงิน แล้วจบไป” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจาก “ชุมชนที่พร้อม” หากเลือกชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็ง เช่น ไม่มีผู้นำ ไม่มีความต่อเนื่อง แม้ปลูกต้นไม้ไว้ก็อาจตายไปในปีต่อมา เพราะไม่มีคนดูแล ตัวอย่างจากการปลูกป่าของธนาคารแห่งหนึ่งที่ต้องกลับมาปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า จากประสบการณ์ทำงานทั้งในตลาดทุนและภาคประชาสังคม ขอเสนอโมเดล “3 เสาหลัก” ได้แก่
1.เอกชน: มีบทบาทในการพัฒนา สินค้า บริการ แพ็กเกจจิ้ง และช่องทางตลาด
2.ชุมชน: ต้องเป็นผู้มีศักยภาพและพร้อมจะเติบโตอย่างแท้จริง
3.มาตรการภาครัฐ: โดยเฉพาะ BOI มาตรา 7(7) ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ภาษีสูงสุดถึง 200% สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อสังคม
ทั้งนี้ ในปีแรกของโครงการมีบริษัทเข้าร่วมแล้วกว่า 90โครงการ เงินหมุนเวียนสู่ชุมชนกว่า 2,200 ล้านบาท โดยมีการพัฒนาต้นแบบในหลากหลายกลุ่ม เช่น ศูนย์เด็กเล็ก สุขภาพชุมชน การศึกษา การจัดการสิ่งแวดล้อม และสินค้า–ท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งในปี 2568 นี้ จะมีการขยายต้นแบบเพิ่มเติม เช่น ธนาคารยา เครื่องจักรกลสำหรับชุมชน และระบบสนับสนุนสุขภาวะพื้นฐานอื่น ๆ
อีกทั้งมีแผนขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมี “Social Contribution Report” หรือรายงานผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจน เพิ่มเติมจากรายงาน ESG ด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดทุนไทย
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของแนวทาง “collective effort for collective impact” ซึ่งหมายถึงการรวมพลังเอกชนจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาขับเคลื่อนในเป้าหมายเดียวกัน เช่น โครงการเก็บขยะจากแม่น้ำ 8 สายหลัก เพื่อสกัดขยะไม่ให้ไหลลงทะเล โดยชี้ว่าขยะทะเลกว่า 80% มาจากแม่น้ำ การแก้ที่ต้นทางจึงคุ้มค่าและยั่งยืนกว่าการแก้ปลายเหตุ
“หากเราเปลี่ยนวิธีคิดจากการแยกกันทำเป็นการร่วมพลังเพื่อเป้าหมายร่วม จะเกิดแรงกระเพื่อมที่เปลี่ยนประเทศไทยได้จริง” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว