
“ประพันธ์” เจาะลึกตลาด “LiVEx” ทางรอดธุรกิจ SE สู่การระดมทุนง่ายขึ้น
“ประพันธ์ เจริญประวัติ” กล่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้ำบทบาท “ตัวกลาง” เชื่อมทุน-ความรู้-คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม “SE” ด้วยโมเดลยั่งยืน หลังเปิดตลาด LiVE Exchange รับธุรกิจขาดทุนเข้าเทรด พร้อมคลังความรู้-เครื่องมือฟรีหนุน Social Enterprise ไทย
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนา “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ปีที่ 2” (The 2nd Multilateral Collaboration for Sustainability: Continuing the Impact) ในหัวข้อ “บทบาทของตลาดทุนกับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม” ว่า ปัจจุบันบทบาทของตลาดทุนไทยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ให้สามารถเติบโต ควบคู่กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง
โดยหนึ่งในความเข้าใจผิดที่สำคัญคือการมองว่า “การทำเพื่อสังคมเป็นภาระ” ทั้งที่แท้จริงแล้ว คนไทยจำนวนมากมีความตั้งใจจะทำสิ่งดี ๆ เพียงแต่ยังขาด “จุดเริ่มต้น” และโมเดลที่สามารถขยายผลได้อย่างยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ในฐานะ “แพลตฟอร์มกลาง” จึงมีหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยงทุน องค์ความรู้ และความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อทำให้โมเดล “การทำดี” นั้นเวิร์กในเชิงธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ตลท.ได้พัฒนาเครื่องมือสนับสนุนที่ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ Education Platform ระบบเรียนรู้ฟรีออนไลน์ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็สามารถเข้าถึงความรู้ด้านธุรกิจตั้งแต่ระดับเบื้องต้นจนถึงการเตรียมตัวเข้าตลาดทุน รวมกว่า 1,000 คอร์ส, Scaling Platform สำหรับประเมินศักยภาพและความพร้อมของธุรกิจในด้านการเงิน การควบคุมภายใน และการจัดการความเสี่ยง รวมถึง Legal Tools อาทิ สัญญามาตรฐานที่สามารถดาวน์โหลดและใช้งานฟรีโดยไม่ต้องจ้างทนายความ ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดให้ทั้งผู้ประกอบการทั่วไปและ SE ใช้งานได้จริง
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาด LiVE Exchange ซึ่งเปิดตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ถือเป็นการปฏิวัติโครงสร้างตลาดทุนไทย โดยเปิดโอกาสให้บริษัทที่ยังไม่มีกำไรก็สามารถเข้าจดทะเบียนและระดมทุนได้ ด้วยเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย ค่าใช้จ่ายต่ำ และใช้ระยะเวลาดำเนินการสั้น ปัจจุบันมี 8 บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการนวัตกรรม แต่การเฟ้นหาธุรกิจที่เหมาะสมยังเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่ม SE ที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านและโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง
พร้อมย้ำอีกว่า SE ไม่ควรมุ่งเพียงสร้าง “ภาพลักษณ์ดี” หรือการทำเพื่อสังคมที่เป็นเพียงกิจกรรม แต่ต้องสร้างสินค้าและบริการที่ “ตอบโจทย์ตลาด” อย่างแท้จริง โดยต้องเริ่มจากการมี Product หรือ Service ที่มีคุณภาพ จากนั้นจึงใช้การตลาด (Marketing) เชื่อมโยงสู่ตลาด และสุดท้ายคือการขยายด้วยการระดมทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์พร้อมสนับสนุนในทุกขั้นตอนผ่านเครื่องมือที่พัฒนาไว้แล้ว
นอกจากนี้ นายประพันธ์ ยังยกตัวอย่างกรณีของบริษัทในตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) แห่งหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจ Call Center โดยใช้แรงงานจากผู้ต้องขังกว่า 160 คน คิดเป็น 48% ของพนักงานทั้งหมด ถือเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยสร้างโอกาสและคุณค่าให้กลุ่มเปราะบาง และยังเตรียมแยกกิจการนี้เป็นบริษัทใหม่ในรูปแบบ SE เพื่อต่อยอดความยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับมุมมองด้านสังคม นายประพันธ์กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่าเป็นตัวอย่างชัดเจนของปัญหาระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งหากสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสุขภาพของประชาชน
นายประพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความรู้” คือรากฐานสำคัญในการสร้าง SE ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมเชิญชวนภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาคสังคมเข้าร่วมสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดทุนที่ไม่ใช่แค่เพื่อผลกำไร แต่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับประเทศในระยะยาว