
“พงศ์ภัทร” ชี้ SET ถูกกดดันเจรจาภาษีไม่คืบ แนะถือหุ้นหลบภัย “กำไรโต-ปันผลดี”
“พงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์” ชี้ SET เผชิญแรงกดดันเจรจาภาษีไทย-สหรัฐไม่คืบ พร้อมประเมิน 3 ฉากทัศน์ผลกระทบภาษีสหรัฐ โดยให้น้ำหนัก 60% ไทยถูกเก็บภาษี 15–20% รวมภาษีพื้นฐาน หากกรณีเลวร้ายเก็บ 25-36% เสี่ยงกด SET หลุด 1,000 จุด กลยุทธ์แนะลงทุน “หุ้นหลบภัย” เน้นกำไรโต–ปันผลดี ชู ADVANC–BCH–BCH-BBL-PTT รับมือความผันผวน
นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ นักกลยุทธ์การลงทุน Research Department, InnovestX บริษัทหลักทรัพย์ในกลุ่ม SCBX เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” วันนี้ (7 ก.ค.68 2568) ว่า ตลาดหุ้นไทยโดยรวมน่าจะตอบสนองเชิงลบต่อความไม่ชัดเจนของการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมนี้
ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถตกลงกับสหรัฐฯ และยอมให้ภาษีบางรายการอยู่ที่ 0% แต่ยังคงถูกเก็บภาษีส่งออกไปสหรัฐฯถึง 20% ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการเจรจากับประเทศคู่ค้า รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีฐานภาษีเดิมอยู่ที่ 36%
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยมองว่าการเจรจาอยู่ภายใต้เงื่อนไขซับซ้อน โดยเฉพาะความคาดหวังของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรและชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งหากยอมรับอาจกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยตรง
โดยฝ่ายวิจัยได้จัดทำ 3 ฉากทัศน์สำหรับผลกระทบของภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่มีต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ดังนี้
–กรณีพื้นฐาน Base Case (ความน่าจะเป็น 60%) หากไทยถูกเก็บภาษี 15–20% (รวมภาษีพื้นฐาน 10%) คาดว่า GDP จะเติบโต 1.1–1.4% และ EPS ตลาดอยู่ที่ 84–86 บาท ดัชนี SET มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 1,032–1,175 จุด (PE 12–14 เท่า)
–กรณีเลวร้ายที่สุด Worst Case (ความน่าจะเป็น 30%) หากไทยเผชิญภาษี 25–36% คาด GDP หดตัวลงอยู่ที่ -1.1% ถึง 0.5% และ SET อาจร่วงต่ำกว่า 1,000 จุด
–กรณีดีที่สุด Best Case (ความน่าจะเป็น 10%) หากถูกเก็บเพียงภาษี Universal ที่ 10% คาด GDP โต 1.7% EPS ตลาดอยู่ที่ 88 บาท และ SET อาจแกว่งในกรอบสูงถึง 1,157–1,233 จุด
อย่างไรก็ตามให้น้ำหนักน่าจะไทยถูกเก็บภาษี 15–20% (รวมภาษีพื้นฐาน 10%) เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐสูง แต่ไทยยังไม่สูงถึงขั้นนั้น ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐต่ำกว่าระดับ 20% มีความเป็นไปได้สูง และเป็นระดับที่บวกรวมภาษีพื้นฐานแล้ว
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นผลกระทบจากการที่ไทยอาจต้องยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แบบต่างตอบแทน (Reciprocal) ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น สินค้าเกษตรและชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรไทย เช่น ข้าวโพด, เนื้อหมูอาจได้รับผลกระทบจากราคาที่ต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากเดิมเคยมีกำแพงภาษีสูงถึง 80-100% แต่ก็มีข้อดีต้นทุนการผลิตลดลงสำหรับผู้ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ
ขณะที่ะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากการถูกตีตลาด ปัจจุบันไทยมีกำแพงภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณ 80% หากสหรัฐฯสามารถตีตลาดในไทยได้โดยไม่เก็บภาษี อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งกำลังตามหลังเรื่อง EV อยู่แล้วอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เพราะความแตกต่างของภาษีเพียง 5–10% อาจส่งผลให้ลูกค้าสหรัฐเปลี่ยนแหล่งนำเข้าซึ่งกระทบโดยตรงต่อยอดขายของผู้ส่งออกไทย
ด้านกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัยแนะนำ “กลุ่มหุ้นหลบภัย” ที่มีความผันผวนต่ำและไม่อ่อนไหวต่อภาวะสงครามการค้า ได้แก่
–ADVANC ได้รับแรงหนุนจากผลประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช. รับรองแล้ว
-BCH และ CBG ซึ่งคาดว่ามีผลประกอบการไตรมาส 2/68 โตเด่น ทั้งเมื่อเทียบรายปีและรายไตรมาส นอกจากนี้ยังชูหุ้นปันผลระหว่างกาลน่าสนใจ เช่น ADVANC, BBL และ PTT เพื่อสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต ขณะเดียวกันยังมี
-หุ้นกลุ่มกำไรดีในช่วงประกาศงบไตรมาส 2/68 ได้แก่ ADVANC, BCH, CBG, CPALL และ SCCC ที่คาดว่างบไตรมาส 2 และ 3 จะเติบโตต่อเนื่อง