ตลท. เดินเกมรุกครึ่งหลัง! ไม่หวั่นภาษีสหรัฐ ชูแผน JUMP+ สร้างความเชื่อมั่น

“อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ย้ำศักยภาพตลาดทุนไทยยังแข็งแกร่ง แม้ภาษีสหรัฐกดดัน เดินหน้าแผน JUMP+ สร้างภาพเติบโต 3 ปี ดึงเม็ดเงินลงทุน รับมือภาษีนำเข้าสหรัฐ เริ่ม 1 ส.ค. พร้อมดึงธุรกิจใหม่เข้าตลาดทุน ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิม รับมือมาตรการ CBAM และความเสี่ยงโลก พร้อมชูหุ้นไทย P/E ต่ำ-ปันผลสูง พ่วงกลุ่มเฮลธ์แคร์-ท่องเที่ยวยังเป็นดาวเด่น


นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยภายในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2568 “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้สู่ความยั่งยืน” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ภาวะตลาดการเงินโลก รวมถึงตลาดทุนไทยในขณะนี้ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะมาตรการภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเรียกเก็บจากสินค้าไทยในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ถูกประเมินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะขยายตัวเพียง 2.3% แต่ตลท.มองว่าตลาดทุนไทยยังมีความน่าสนใจในเชิงพื้นฐาน โดยบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ยังมีค่า P/E ในระดับต่ำ และ Dividend Yield อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค สะท้อนความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ที่จำกัด และยังสามารถเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในระยะยาว

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุน อยากเห็นความชัดเจนว่าธุรกิจไทยจะเติบโตได้อย่างไรในอนาคต แม้เศรษฐกิจโตช้า แต่ไม่ใช่ภาวะถดถอย หากบริษัทจดทะเบียนสามารถแสดงศักยภาพการเติบโตที่สูงกว่า GDP ได้ ก็จะช่วยดึงดูดความเชื่อมั่นมากขึ้น

อีกทั้งเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเดินหน้าโครงการ “JUMP+” เพื่อสนับสนุนให้ บจ. วางแผนการเติบโตระยะ 3 ปีอย่างเป็นรูปธรรม และสื่อสารแผนดังกล่าวอย่างชัดเจนต่อผู้ลงทุน โดยเน้นดึงศักยภาพธุรกิจที่เติบโตได้ดี อาทิ กลุ่ม Health care และธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในระยะนี้

ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเข้าถึงของนักลงทุนรายย่อย และสร้างความคล่องตัวให้แก่บริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เพื่อเพิ่มความหลากหลายและความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย

สำหรับแผนรับมือภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ตลท.ได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่ บจ. โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (ESG) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต้นทุนทางอ้อมผ่านมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป โดยตลท.จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง และจัดเตรียมข้อมูลเพื่อสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนรายย่อยให้สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“แม้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตลาดทุนไทยยังมีจุดแข็งสำคัญ และจะเป็นกลไกหลักในการระดมทุนและสนับสนุนการเติบโตของภาคเอกชนต่อไปในระยะยาว” นายอัสสเดชกล่าว

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเร่งเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และทันต่อสถานการณ์ เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินผลกระทบจากภาษีที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน และใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Back to top button