CPAXT เดินหน้าองค์กรโปร่งใส ยึด 4 เสาหลัก “ธรรมาภิบาล” ปั้นวัฒนธรรมยั่งยืน

CPAXT ประกาศนโยบายธรรมาภิบาลฉบับใหม่ ยึด 4 เสาหลักคุณธรรม–คุณภาพ–บุคลากร–ทรัพยากร เป็นแกนกลางสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าธรรมาภิบาลหยั่งรากลึกในทุกระดับ พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตโปร่งใสในทุกมิติ


บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT นำโดยนางศิริพร เดชสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เปิดเวทีประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมธรรมาภิบาลองค์กร พร้อมประกาศใช้ “นโยบาย CG ฉบับใหม่” และ “จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ” ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งถือเป็น “ก้าวที่ 3” ของการยกระดับธรรมาภิบาล โดยมุ่งปลูกฝังธรรมาภิบาลให้หยั่งรากลึกเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการทำงานของพนักงานในทุกระดับ

สำหรับ CPAXT เกิดจากการรวมพลังของสองแบรนด์ยักษ์ใหญ่คือ “แม็คโคร” และ “โลตัส” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 รวมกำลังคนกว่า 90,000 คน ภายใต้ปรัชญาเดียวกันในการยึดมั่นธรรมาภิบาลเป็นรากฐานของการเติบโต ทั้งในมิติธุรกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดย นางศิริพร เน้นว่า CPAXT มุ่งมั่นทำมากกว่าข้อกำหนด เพื่อสร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม พร้อมขอบคุณนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริษัท และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ร่วมเป็นแรงผลักดันการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริษัท CPAXT กล่าวย้ำบทบาทสำคัญของธรรมาภิบาลในการสร้างองค์กรให้มั่นคง เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่ต้องมีรากแก้วแข็งแรง โดยธรรมาภิบาลจะต้องฝังลึกเป็นวัฒนธรรมองค์กร มิใช่เพียงกติกาหรือกฎหมาย โดยมี “ความเมตตา” เป็นแกนกลางของการดำรงอยู่ร่วมกันทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และองค์กร

โดยในโอกาสนี้ ได้ประกาศแนวทาง “4 เสาหลักแห่งธรรมาภิบาล” ได้แก่

1.คุณธรรม (Morality): การดำเนินธุรกิจอย่างเท่าเทียมและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

2.คุณภาพ (Excellence): การพัฒนาต่อเนื่อง สร้างนวัตกรรม และมูลค่าเพิ่มให้สังคม

3.บุคลากร (People): การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์แบบผู้ประกอบการ และวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิด

4.การใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency): การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสมดุลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ระดับของธรรมาภิบาลไม่ควรหยุดอยู่ที่ “ดี” หรือ “ยอดเยี่ยม” แต่ต้องพัฒนาไปสู่ “ความเป็นเลิศ” (Excellence) ซึ่งต้องอาศัยนวัตกรรม ความกล้าหาญของผู้นำ และความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกระดับ เพื่อสร้างองค์กรต้นแบบที่ให้คุณค่าร่วมกับสังคมในระยะยาว พร้อมเน้นว่า “ความสำเร็จดีใจได้เพียงวันเดียว แต่ความยั่งยืนคือเป้าหมายที่แท้จริง”

ด้านนางสินีนาฏ แจ่มศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความชื่นชมผู้นำ CPAXT ที่ยึดมั่นในธรรมาภิบาล พร้อมชี้ว่า “ความเป็นผู้นำ” ต้องมากกว่าการก้าวนำ แต่หมายถึงการแบกรับความรับผิดชอบและความคาดหวังจากสังคม โดยเฉพาะในภาวะที่สาธารณชนเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด

นางสินีนาฏ เปรียบเทียบว่า CPAXT และตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างเป็น “ตลาด” ที่ต้องสร้างความไว้วางใจจากสาธารณชน ผ่านการมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ โปร่งใส และปลอดภัย โดยยกกรณีศึกษาเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เช่น พนักงานที่ทุจริตเงินทอน โพสต์โจมตีนายจ้าง หรือใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น ซึ่งล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นขององค์กร

ขณะเดียวกันก็มีกรณีตัวอย่างของพนักงานและผู้บริหารที่มีจริยธรรมสูง เช่น พนักงานโลตัสที่ช่วยเหลือผู้อื่นแม้นอกเวลางาน พนักงานที่กล้ายอมรับผิดเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ไปจนถึงผู้บริหารที่แสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาทุจริต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า CG มิใช่เพียงเรื่องของนโยบาย แต่คือ “การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่”

นางสินีนาฏ กล่าวอีกว่า จากสถิติการทุจริต ความเสียหายจากผู้บริหารสูงกว่าพนักงานถึง 7 เท่า การมีระบบแจ้งเบาะแสและควบคุมภายในจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สามารถตรวจพบพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ถึง 52% พร้อมเน้นว่า มาตรการกำกับดูแลตลาดทุนในปัจจุบันต้องเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณี front-run หรือการใช้ข้อมูลภายใน

สุดท้ายนางสินีนาฏกล่าวว่า ธรรมาภิบาลในมุมของตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือควบคุมความเสี่ยงหรือรักษามูลค่าบริษัทเท่านั้น แต่คือ “การสร้างคุณค่าแท้จริง” ให้กับพนักงาน ลูกค้า ชุมชน และประเทศชาติ โดยยึดหลัก 5 ประการ ได้แก่ Integrity, Fairness, Transparency, Responsibility และ Accountability ซึ่งควรนำไปปฏิบัติจริงในทุกระดับขององค์กร

ตัวอย่างที่สะท้อนจริยธรรมขององค์กร ได้แก่ การที่ MRT คืนเงินผู้โดยสารในช่วงโควิด, Honda เรียกคืนชิ้นส่วนก่อนมีการร้องเรียน, และ Singapore Airlines ที่แสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมจากอุบัติเหตุทางอากาศ ล้วนเป็นบทเรียนของการเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลเป็นหัวใจ

Back to top button