“บล.กรุงศรี” มองเปิด Sandbox คริปโต หนุนกลุ่มบริการเด่น แนะเก็บ BDMS-CENTEL-AOT

“บล.กรุงศรี” ประเมิน ก.ล.ต. เตรียมเปิด Sandbox แลกคริปโตเป็นเงินบาทใช้จ่ายในไทย ดันเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ชี้เป็นบวกกลุ่มโรงแรม-โรงพยาบาล และสนามบิน ชู BDMS-CENTEL-AOT เด่น


ท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของไทยกำลังเริ่มต้นขึ้นเมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมเปิดพื้นที่ “Sandbox” ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถแปลง “คริปโตเคอร์เรนซี” เป็นเงินบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายจริงในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงการทดสอบเชิงนวัตกรรม แต่สะท้อนถึงทิศทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยผ่านเม็ดเงินนักท่องเที่ยวและการลงทุนในระบบใหม่

จากประเด็นดังกล่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมความเห็นบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ชั้นนำของนำมานำเสนอ เพื่อให้เห็นมุมมองและโอกาสการเข้าลงทุนกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวโดยอาศัยข้อมูลและบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS ซึ่งระบุไว้ดังนี้ จากประเด็น ก.ล.ต. เตรียมเปิด Sandbox ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยน Crypto Currency เป็นเงินบาทใช้จ่ายในไทยและนำไปใช้จ่ายในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โดย KSS ประเมิน พื้นที่ Sandbox (จากกระแสก่อนหน้าคือ ภูเก็ต) โดยมองเป็นบวกต่อ Service Sector ดังนี้

-กลุ่มโรงแรมที่มีจำนวนห้องในพื้นที่ Sandbox ภูเก็ต อิง บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR มากที่สุด ราว 42.2% ของจำนวนห้องรวมทั้งหมดในไทย, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รองลงมาคือ 19.8% , บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT รองลงมาคือ 17% ตามลำดับ

-กลุ่มโรงพยาบาล ที่มีในพื้นที่ ภูเก็ต หลักๆคือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS

-กลุ่มสนามบิน คาดได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวเร่งขึ้น อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (14% ของปริมาณผู้ใช้บริการ) โดยรวมประเมินบวกต่อภาพรวม จากการดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างการหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ขณะที่คงมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มบริการ เน้น BDMS, CENTEL, AOT

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เห็นความสำคัญในการนำนวัตกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลมาสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย จึงมีแนวคิดที่จะเปิด Sandbox ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเปลี่ยนเป็นเงินบาทและนำไปใช้จ่าย สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทย

ทั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากระบบนิเวศเดิม ทั้งระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) โดยยังคงมีการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมเพียงพอ

อีกทั้งเบื้องต้น ก.ล.ต. กำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทและนำไปชำระเงินค่าสินค้าและบริการกับร้านค้า ต้องเปิดบัญชีและดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และผู้ประกอบธุรกิจ e-money ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยภายใต้ Sandbox ซึ่งมีการควบคุมดูแลและป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องผ่านหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม โดยไม่มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) กับร้านค้า

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วม Sandbox ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และมีความพร้อมในการดำเนินการตามรูปแบบ ขอบเขต และหลักเกณฑ์ของ Sandbox โดยต้องสมัครและได้รับความเห็นชอบให้เข้าร่วม Sandbox จาก ก.ล.ต.

รวมไปถึงเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะมีระยะเวลาในการให้บริการภายใต้ Sandbox ไม่เกิน 18 เดือน โดย ก.ล.ต. อาจพิจารณาขยายกรอบระยะเวลาทดสอบเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินการทดสอบได้

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วม Sandbox สามารถให้บริการได้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยและพำนักอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว โดยต้องทำความรู้จักตัวตนของผู้ใช้บริการ (KYC/CDD) ตามเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทใบอนุญาตที่ได้รับ

รวมทั้งมีการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบธุรกิจ e-money ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ
นำเงินบาทที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลไปซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสแกน QR code เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วม Sandbox ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรวบรวมและประเมินข้อมูลผู้ใช้บริการ การตรวจสอบแหล่งที่มาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท การรายงานข้อมูลต่อ ก.ล.ต. และแผนรองรับการออกจาก Sandbox เป็นต้น

Back to top button