ศาลชี้มติบอร์ด กสทช. สั่งสอบวินัย-เปลี่ยนรักษาการเลขา “เกินอำนาจ” ยกฟ้อง “หมอสรณ”

ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องคดี 4 กรรมการ กสทช. ฟ้อง หมอสรณประธาน กสทช. ปมไม่ตั้งสอบวินัย “ไตรรัตน์” ชี้บอร์ดไม่มีอำนาจสั่งสอบพนักงานโดยตรง การไม่ปฏิบัติตามมติจึงไม่ถือเป็นการละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (17 ก.ค.68) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่กรรมการ กสทช.4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-4) ยื่นฟ้อง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้องสอด)

โดยคดีนี้สืบเนื่องจากการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 30/ 2565 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบให้นำเงินจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 600,000,000 บาท สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่สัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022

ต่อมาเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รายงานผลต่อที่ประชุม กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ก่อนที่บอร์ด กสทช.เสียงข้างมาก มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์และให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นรองเลขาธิการ กสทช. อีกคนหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามมติดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามมติดังกล่าว

ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยว่า กรณีที่บอร์ด กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ร้องสอดที่ 1 นั้น ผู้ร้องสอดที่ 1 แม้จะเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แต่ตำแหน่งเดิมคือรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีสถานะเป็น “พนักงาน” ของสำนักงาน กสทช

การดำเนินการทางวินัยผู้ร้องสอดที่ 1  จึงต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช. ที่จะพิจารณาสืบสวนและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กสทช. ในฐานะองค์กรคณะบุคคลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้โดยตรง มติของ กสทช. ในส่วนนี้จึงเป็นมติที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อยู่ในขณะนั้น ย่อมเข้ากรณีที่มีเหตุที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

ตามมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากเป็นคู่กรณีเสียเอง อำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงต้องตกแก่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่ง ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดให้เลขาธิการ กสทช. ขึ้นตรงต่อประธาน กสทช.

ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธาน กสทช. จึงเป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามมติของ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ที่มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นมติที่ไม่มีอำนาจสั่งการได้โดยตรง จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

สำหรับมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ในส่วนที่ให้มีการเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จากผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 นั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ. 2555 ข้อ 6 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. แต่งตั้งรองเลขาธิการคนหนึ่งตามที่เห็นสมควรเป็นผู้รักษาการแทน แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้การริเริ่มเสนอชื่อและแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเป็นอำนาจของ

ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธาน กสทช. เพื่อให้การปฏิบัติงานของเลขาธิการ กสทช. ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อประธาน กสทช. เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ส่วนอำนาจของ กสทช. ทั้งคณะนั้นอยู่ในขั้นตอนของการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับที่เป็นสาระสำคัญ หาก กสทช. ไม่เห็นชอบ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่อาจแต่งตั้งบุคคลนั้นได้

ดังนั้น มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ในส่วนที่ให้มีการเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จากผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 ซึ่งมิได้มาจากการเสนอของผู้ถูกฟ้องคดี จึงไม่มีผลทางกฎหมายเป็นคำสั่งที่ผูกพันให้ผู้ถูกฟ้องคดี ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือกอื่นแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดที่ 1 พ้นจากรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และไม่แต่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตามมติที่ประชุม กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง

Back to top button