
“ธนาธร” ย้ำฝ่ายค้านต้องยึดหลักการ ไม่แลกอุดมการณ์เป็นดีลการเมือง
ธนาธร ยืนยันพรรคประชาชนทำงานยึดหลักอุดมการณ์ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเรื่องดีลการเมือง ลั่นไม่ข้ามเส้นเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตนหรืออำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ร่วมเสวนาในเวที Exclusive Talk “55 ปี Nation ผ่าทางตันประเทศไทย” โดยมีช่วงหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทของพรรคประชาชนในฐานะฝ่ายค้าน และกระแสวิจารณ์เรื่องการทำหน้าที่ไม่เต็มที่ รวมถึงข้อสงสัยเรื่องการมีดีลกับพรรคการเมืองอื่น
นายธนาธรตอบว่า ตนยังคงเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในพรรคประชาชน ว่าไม่ได้เอียงไปฝ่ายใด และไม่มีการข้ามเส้นเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตน พร้อมระบุว่า “สภาฯ เป็นพื้นที่ของการพูดคุย แต่หากพูดคุยเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตัว ถือเป็นผลไม้พิษของสังคม”
เมื่อถูกถามถึงการพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายธนาธรยอมรับว่าเคยพบกันที่ฮ่องกงหลังเลือกตั้ง จากการมอบหมายของนายชัยธวัช ตุลาธน ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าเป็นการพูดคุยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ส่วนความสัมพันธ์กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายธนาธรกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “ล่าสุดก็คือเช้าวันนี้ เพราะกดโทรศัพท์ผิด” ยืนยันไม่มีอะไรในกอไผ่
ในประเด็นเรื่องโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใหญ่ นายธนาธรระบุว่า พรรคประชาชนยังมีโอกาสได้เสียงเกิน 250 เสียง แต่หากต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพันธมิตร จะพิจารณาจากสองปัจจัยคือ ผลการเลือกตั้ง และการยอมรับนโยบายของพรรคประชาชนเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
เขาย้ำว่าความโปร่งใสในการทำข้อตกลงกับพรรคอื่นเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมอ้างถึง MOU ของพรรคก้าวไกลในอดีตว่าเป็นตัวอย่างของการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
กรณีวิจารณ์ว่าพรรคประชาชนทำหน้าที่ฝ่ายค้านไม่เด็ดขาดในคดีการเมืองสำคัญ เช่น คดีเขากระโดง หรือคดีฮั้ว ส.ว. นายธนาธรตอบโต้ว่า พรรคไม่ได้เกรงใจพรรคใด และยกตัวอย่างการทำงานของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคประชาชน ที่อภิปรายกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อย่างถึงพริกถึงขิง
สำหรับกรณีตั๋ว PN ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายธนาธรยืนยันว่า พรรคได้ยื่นเรื่องสอบถามไปยังกรมสรรพากรเพื่อความชัดเจน แต่เลือกที่จะไม่ยื่นฟ้องจริยธรรม เพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรฐานจริยธรรมที่กว้างเกินไป และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้
ทั้งนี้ นายธนาธรยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญว่า หากจะมีอยู่ต่อ ควรจำกัดขอบเขตอำนาจให้อยู่เพียงการวินิจฉัยว่า “ถูกหรือผิดรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น เพื่อไม่ให้กลายเป็นกลไกแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่เหมาะสม
“ถ้าจะพูดถึงมาตรฐานที่แท้จริงในการตัดสินนักการเมือง ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผ่านบัตรเลือกตั้ง” นายธนาธรกล่าว