“วุฒิสภา” ไฟเขียว “สราวุธ ทรงศิวิไล” นั่งตุลาการ รธน. ไม่สนคำวิจารณ์คดีฮั้ว ส.ว.

ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ “สราวุธ ทรงศิวิไล” เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ “ณรงค์ กลั่นวารินทร์” เป็น กกต. คนใหม่ ท่ามกลางเสียงค้านหนัก ปมสมาชิก 2 ใน 3 ถูกกล่าวหาคดีฮั้วเลือก ส.ว.


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 3 ราย ประกอบด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ราย และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 1 ราย ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากกำลังถูกตรวจสอบในคดี “ฮั้วเลือก ส.ว.” หรือ “คดีโกงเลือก ส.ว.”

ผลการลงมติในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาไม่เห็นชอบ ศ. ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ด้วยคะแนนเสียง 118 ต่อ 39 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง ทำให้ต้องรอการสรรหาใหม่เพื่อแทนที่ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่จะครบวาระในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่วุฒิสภาเห็นชอบให้นายสราวุธ ทรงศิวิไล วัย 60 ปี อดีตอธิบดีกรมทางหลวง และกรมการขนส่งทางราง เข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนนายปัญญา อุดชาชน ที่ครบวาระในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน ด้วยคะแนนเสียง 143 ต่อ 17 เสียง

ในส่วนของ กกต. วุฒิสภามีมติรับรองนายณรงค์ กลั่นวารินทร์ วัย 65 ปี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งคนใหม่แทนนายปกรณ์ มหรรณพ ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 165 ต่อ 1 เสียง

ทั้งนี้ แม้กระบวนการโหวตเป็นไปตามขั้นตอน แต่ได้เกิดความวุ่นวายระหว่างการประชุมจากการอภิปรายของ ส.ว. กลุ่มอิสระ โดยเฉพาะ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการลงมติบุคคลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีที่ ส.ว. หลายคนเกี่ยวข้องโดยตรง ส่งผลให้เกิดการประท้วงกันภายในห้องประชุมอย่างรุนแรง จนประธานต้องปิดไมโครโฟนระงับสถานการณ์

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ 17 กรกฎาคม คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนร่วมระหว่าง กกต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เสนอให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในคดีฮั้วเลือก ส.ว. รวม 229 ราย โดยในจำนวนนี้เป็น ส.ว. ถึง 138 ราย ซึ่งมีถึง 11 รายร่วมเป็นกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับเสนอชื่อในวันนี้ด้วย

โดยกระแสคัดค้านจากทั้งในวุฒิสภาและภาคประชาชนยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อกังวลว่าการที่ ส.ว. ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหายังคงเดินหน้าพิจารณาและรับรองบุคคลที่มีอำนาจตัดสินคดีเกี่ยวกับตนเอง อาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์และกระทบต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ วุฒิสภาชุดปัจจุบันยังคงเดินหน้าโหวตแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 30 พฤษภาคม ก็ได้มีการรับรองกรรมการ ป.ป.ช. 1 ราย และไม่รับรองอีก 2 ราย แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ชอบธรรมในการได้มาซึ่งตำแหน่ง ส.ว.

ด้านนายสราวุธ มาใน “แท่งอธิบดี” โดยกฎหมายกำหนดให้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

Back to top button