THAI รีซูมเทรด 4 ส.ค.นี้ กางแผน 5 ปี อัดงบ 1.7 แสนล. พลิกโฉมฝูงบิน-ขยายศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา

THAI เคาะวันกลับเทรดตลาด SET วันที่ 4 ส.ค.68 พร้อมแผนลงทุน 1.7 แสนล้านบาท เดินหน้าปั้นฝูงบินใหม่-ขยาย MRO หนุนโตระยะยาว มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2608 ชู D/E Ratio เหลือเพียง 2.2 เท่า


นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมประกาศความพร้อมในการนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2568 ซึ่งจะเป็นไปตามกลไกตลาด (bid-offer) ณ วันที่เปิดการซื้อขาย หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2568–2572 มูลค่ารวมโดยประมาณ 170,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยเน้นการปรับปรุงฝูงบิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการ โดยตั้งเป้ามีเครื่องบิน 150 ลำในปี 2576 ลดแบบเครื่องบินจาก 8 เหลือ 4 แบบ และลดจำนวนเครื่องยนต์จาก 9 เหลือ 5 แบบ เพื่อควบคุมต้นทุน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจาก 26% เป็น 35% ภายในปี 2572

โดยแผนการลงทุนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ การลงทุนในเครื่องบินและเครื่องยนต์ (Aircraft & Engine),การปรับปรุงเครื่องบินเก่า (Retrofit), การลงทุนในสินทรัพย์อื่นเพื่อสนับสนุนธุรกิจ (Other CAPEX), การขยายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)

สำหรับในช่วง 3 ปีแรก (2568–2570) การบินไทยมีแผนลงทุนสูงสุด โดยในปี 2569 คาดว่าจะใช้งบลงทุนถึง 44,700 ล้านบาท ก่อนจะทยอยลดลงในปีถัดไปตามแผนการทยอยส่งมอบเครื่องบินและดำเนินโครงการแล้วเสร็จ

สำหรับรายละเอียดสำคัญของแผนการลงทุน ดังนี้

การปรับฝูงบินใหม่: การบินไทยมีแผนปรับโฉมฝูงบินด้วยเครื่องบิน 4 รุ่นหลัก และเครื่องยนต์ 5 แบบ โดยได้ลงนามสั่งซื้อ Boeing 787 จำนวน 45 ลำ พร้อมสิทธิซื้อเพิ่มอีก 35 ลำ และมีแผนเช่า Airbus A321NEO จำนวน 32 ลำ

การปรับปรุงภายในเครื่องบินเดิม: จะมีการติดตั้งชั้นธุรกิจใหม่ในเครื่องบิน A320-200 และปรับปรุงที่นั่งและระบบความบันเทิงบนเที่ยวบินระยะไกล เช่น B777-300ER และ A350-900

การขยายศูนย์ซ่อมบำรุง: บริษัทมีแผนขยายศักยภาพของศูนย์ซ่อมอากาศยานทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) และดอนเมือง (DMK) พร้อมทั้งลงทุนในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา (U-Tapao MRO Facility) วงเงินรวม 10,300 ล้านบาท ภายในปี 2568–2571 โดยโครงการนี้จะสนับสนุนการดูแลฝูงบินในอนาคต และเชื่อมโยงกับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การบินไทยระบุว่า แผนการลงทุนดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของสายการบินให้สามารถรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

การบินไทยในฐานะผู้ประกอบการสายการบินมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบในการทำธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI เปิดเผยถึง สถานะทางการเงินของการบินไทยในวันนี้มีความแข็งแกร่งและมั่นคงกว่าเดิมมาก ซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 41,515 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 22.1% และในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.3% กำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% และ อัตราผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร (Passenger Yield) เท่ากับ 2.91 ใกล้เคียงกับปีก่อน และความสำเร็จจากการแปลงหนี้และดอกเบี้ยตั้งพักของเจ้าหนี้เป็นทุนกว่า 53,453 ล้านบาท

รวมถึงเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการฟื้นฟูกิจการและพนักงานของบริษัทฯกว่า 22,987 ล้านบาท ในปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 กลับเป็นบวกที่ 55,439 ล้านบาท จากเดิมที่ติดลบเป็นจำนวน 43,142 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563  และสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E Ratio) เหลือเพียง 2.2 เท่า จาก 12.5 เท่า ในปี 2562 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงสถานะทางการเงินที่มั่นคง โดยไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการลดยอดหนี้ลง (Hair Cut) ในส่วนหนี้เงินต้นของเจ้าหนี้ทางการเงินและเจ้าหนี้การค้า ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ของการบินไทย โดยมีกำหนดคืนหนี้ชัดเจนแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการจนถึงปี 2579 ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการทำงานอย่างหนัก วินัยทางการเงินที่เข้มงวด ตลอดจนความร่วมมือจากเจ้าหนี้พนักงาน การบินไทยทุกคนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

Back to top button