“เมย์แบงก์” ชี้ศึกชายแดนไทย-กัมพูชา กระทบส่งออกแค่ 3% แนะเก็บหุ้น Laggard

สถานการณ์ความตึงเครียดไทย-กัมพูชายังรุนแรง ส่งผลปะทะทางทหาร ลดความสัมพันธ์ทางการทูต และปิดด่านบางส่วน แต่ผลกระทบต่อส่งออกไทยไปกัมพูชาซึ่งคิดเป็น 3% ของมูลค่ารวมยังจำกัด บล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) นักลงทุนมองเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Laggard ได้แก่ CHG, OSP, SCGP และ CKP


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชายังคงทวีความรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การปะทะทางทหารระหว่างทั้งสองฝ่าย พร้อมกับการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและการปิดด่านชายแดนบางส่วน ซึ่งสะท้อนถึง แนวโน้มสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อ และส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในมิติของการค้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชา ซึ่งในปี 2567 มีมูลค่ารวม 3.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ยังคงประเมินได้ว่าผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับจำกัด

ด้านผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน ประเมินว่าอาจกระทบโดยตรงต่อบริษัทที่มีรายได้จากกัมพูชา โดยเฉพาะ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากกัมพูชาราว 13-14% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม บริษัทระบุว่าการขนส่งทางเรือยังคงดำเนินได้ตามปกติ และยังไม่พบกระแสต่อต้านสินค้าไทยจากผู้บริโภคกัมพูชา สำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายได้จากกัมพูชาน้อย คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในเชิง Sentiment มากกว่า เช่น

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI มีสัดส่วน 2–3%, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ไม่ถึง 5%

กลุ่มพลังงาน อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ PTT ขายผลิตภัณฑ์คิดเป็น 0.5% ของรายได้รวม, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขายผลิตภัณฑ์คิดเป็น  2.5% ของรายได้รวม   2.5%

กลุ่มโรงพยาบาล อย่าง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน)  หรือ BDMS และ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ BH มีรายได้จากผู้ป่วยกัมพูชา 3%, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH มีรายได้จากผู้ป่วยกัมพูชา 1.7%, บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน)  หรือ CHG มีรายได้จากผู้ป่วยกัมพูชา 1% และ บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 มีรายได้จากผู้ป่วยกัมพูชา 1%

กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL  มีรายได้จากกัมพูชา 2%, ขณะที่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)  หรือ CPAXT, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC มีสัดส่วนต่ำกว่า 1% (ยอดขายสาขาตามแนวชายแดนอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญ)

กลุ่มท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากกัมพูชามีสัดส่วนเพียง 1.6% ของนักท่องเที่ยวรวม และมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2566

กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง  ซึ่งมีการใช้แรงงานกัมพูชาค่อนข้างน้อย จึงประเมินว่าผลกระทบยังไม่มีนัยสำคัญ

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน ประเมินว่าความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาส่งผลกระทบจำกัดต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวม แม้จะมีแรงกดดันเชิง Sentiment ต่อตัวหุ้นบางกลุ่มที่มีรายได้จากกัมพูชา ดังนั้น หากราคาหุ้นปรับลดลงเกินกว่าสัดส่วนรายได้ที่ได้รับจากกัมพูชา จึงมองเป็นโอกาสสำหรับการทยอยสะสมในเชิงกลยุทธ์ได้ ขณะที่ในมุมมองการลงทุน ยังคงเน้นธีมการเก็งกำไรในหุ้นที่คาดว่ากำไรไตรมาส 2/2568 จะออกมาดี และราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีอยู่ในกลุ่ม Laggard โดยชอบ CHG, OSP, SCGP และ CKP

Back to top button