
BOI โชว์ครึ่งแรกปี 68 ยอดขอส่งเสริม “ลงทุนไทย” พุ่ง 1 ล้านลบ. โตเท่าตัว
BOI โชว์ครึ่งแรกปี 68 ยอดขอส่งเสริมลงทุนไทยพุ่งแรงกว่า 1 ล้านล้านบาท เติบโต 138% พบกลุ่มดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ มาแรง สะท้อนความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในฐานะศูนย์กลางลงทุนของภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (24 ก.ค. 68) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยแนวโน้มการลงทุนในไทยในปี 2568 ยังเติบโตสูง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.68) มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 1,880 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1,058,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138% สะท้อนถึงความเชื่อมั่น และบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค
ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง ได้แก่ ดิจิทัล 522,577 ล้านบาท จำนวน 89 โครงการ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 125,786 ล้านบาท จำนวน 268 โครงการ ยานยนต์และชิ้นส่วน 45,195 ล้านบาท จำนวน 172 โครงการ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 42,238 ล้านบาท จำนวน 191 โครงการ
เกษตรและแปรรูปอาหาร 30,785 ล้านบาท จำนวน 184 โครงการ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 26,726 ล้านบาท จำนวน 161 โครงการ การแพทย์ 18,582 ล้านบาท จำนวน 68 โครงการ และการท่องเที่ยว 12,894 ล้านบาท จำนวน 17 โครงการตามลำดับ
โครงการขอรับการส่งเสริมที่น่าสนใจในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ซึ่งสะท้อนถึงความโดดเด่นของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคในด้านยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล มีตัวอย่าง เช่น โครงการลงทุน Data Center ขนาดใหญ่, โครงการขยายการลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถกระบะ, การผลิต Power Control Unit (PCU) สำหรับรถยนต์ไฮบริด
รวมไปถึงการผลิตเซลล์แบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน, การผลิตตัวเก็บประจุชนิดพิเศษที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Notebook, Smartphone และ AI Data Center การประกอบและทดสอบชิป การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เป็นต้น
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,369 โครงการ เพิ่มขึ้น 59% เงินลงทุนรวม 737,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ มูลค่า 246,977 ล้านบาท ฮ่องกง มูลค่า 218,638 ล้านบาท จีน มูลค่า 102,263 ล้านบาท สหราชอาณาจักร มูลค่า 93,726 ล้านบาท และญี่ปุ่น มูลค่า 49,819 ล้านบาท
“เงินลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เกิดจากการลงทุนในกิจการ Data Center ขนาดใหญ่จากสิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่น การลงทุนครั้งนี้ จะช่วยยกระดับศักยภาพประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค รองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น AI และ IoT ทั้งในประเทศ และสามารถเชื่อมต่อกับตลาดในภูมิภาคอาเซียน” นายนฤตม์ กล่าว
ในด้านพื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีมูลค่า 660,631 ล้านบาท จาก 1,011 โครงการ รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง มูลค่า 333,654 ล้านบาท ภาคใต้ มูลค่า 20,081 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่า 19,354 ล้านบาท ภาคตะวันตก มูลค่า 11,342 ล้านบาท และภาคเหนือ มูลค่า 4,571 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งเป็นการลงทุนปรับปรุงกิจการเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีผู้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรก ปี 2568 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 365 โครงการ เพิ่มขึ้น 99% และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 26,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต
สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกปี 2568 มีจำนวน 1,504 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 904,063 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติเหล่านี้ คาดว่าจะเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 110,000 ตำแหน่ง มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 3.6 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วน 42% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 7.8 แสนล้านบาท/ปี ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด มีจำนวน 1,310 โครงการ เงินลงทุนรวม 652,903 ล้านบาท
นายนฤตม์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์โลกจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และความเสี่ยง แต่โลกธุรกิจต้องเดินหน้าต่อไป และหลายบริษัทจำเป็นต้องมองข้ามความผันผวนในช่วงนี้ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการวางยุทธศาสตร์การลงทุนในระยะยาว โดยเลือกแหล่งลงทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคและ Supply Chain มีบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ
“นักลงทุนชั้นนำจำนวนมาก ให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพ และตัดสินใจขยายการลงทุนในประเทศไทย ทำให้สถิติการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งกลุ่มเกษตร อาหารและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ”