ย้อนรอยข่าวดังปี 61 มหากาพย์เกณฑ์คุม Digital Token กับ “หน่วยกล้าตาย ICO”

ย้อนรอยข่าวดังปี 61 มหากาพย์เกณฑ์คุม Digital Token กับ "หน่วยกล้าตาย ICO"


หากพูดถึงเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrency ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยกับคำเหล่านี้ โดยเฉพาะคำว่า Bitcoin ที่เป็นกระแสพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ซึ่ง Bitcoin ถือว่าเป็นผู้นำที่ทำให้มีผู้สนใจลงทุนในตลาดเงินดิจิทัล

โดยภายหลังจาก Bitcoin เข้ามามีบทบาทที่สำคัญกับการลงทุน จึงมีผู้สนใจที่จะสร้างตระกูลเงินดิจิทัลขึ้นมามากมาย แม้กระทั่งบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ต้องการการระดมทุนด้วยการเสนอขาย digital token ต่อสาธารณชน (Initial Coin Offerings – ICO) ซึ่งผู้ลงทุนจะนำเงินไปแลกเป็นเงินดิจิทัล (cryptocurrency) เช่น Bitcoin หรือ Ether มาแลกกับ digital token ที่บริษัทนั้นๆ

ด้วยเพราะการออก ICO เป็นช่องทางเข้าถึงทุนที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับความนิยมมากจากกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ (tech startups) โดย ICO ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดในไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจนมีมูลค่าสูงกว่าการระดมทุนผ่าน venture capital  หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายเงินดิจิตอล ถือว่ามีความเสี่ยงการการลงทุนที่สูงมากกว่าการเข้าลงทุนในตลาดหุ้น ขณะที่ธุรกรรมดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับหน่วยงานภายในประเทศไทยจึงส่งผลให้หน่วยงานต่างๆต้องออกมาเตือนนักลงทุน ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาประกาศห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิตอลและกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการซื้อขายดังกล่า  ล่าสุด ขณะนี้ได้มีหลักเกณฑ์ออกมาอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวมานานกว่า 4 เดือน 

โดยในวันนี้ (16 เม.ย.2561) ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ จะนำข่าวสารเกี่ยวกับเงินดิจิตอลและตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในปี 2561 มาให้นักลงทุนได้อ่านเพื่อเห็นภาพว่าบริษัทจดทะเบียน หรือการระดมทุนด้วย ICO ในประเทศไทยนั้น มีโอกาสประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ประเด็นกล่าวเริ่มต้นจากการที่การระดมทุนด้วยเงินดิจิตอลเป็นที่แพร่หลายในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นอย่างบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ด้วยการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ของเช้าวันที่ 16 ม.ค.61 ว่า อยู่ระหว่างการเตรียมระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน “JFin” Coin ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ICO) รวมมูลค่าระดมทุน 660 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัล (Digital Lending Platform) ของบริษัทย่อยด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งกำหนดเดิมที่จะเริ่มเสนอขายครั้งแรกในวันที่ 1 มี.ค.2561

ส่งผลให้เป็นกระแสพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจาก JMART ถือว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นรายแรกที่จะทำการระดมทุนด้วยการออก ICO ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นการหลอกลวง ไปจนถึงความวิตกกังวลว่าการซื้อขายเงินดิจิตอลจะก่อให้เกิดการฟอกเงิน

ภายหลังจากนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้ทาง JMART ชี้แจงข้อมูลการระดมทุนดังกล่าว เนื่องจากมองว่าข้อมูลยังไม่มีความชัดเจนอย่างเพียงพอ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่บริษัทจดทะเบียนควรต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีผลต่อราคาหรือการซื้อขายหุ้นของบริษัท

ทั้งนี้ภายหลังจากกระแสดังกล่าวถูกพูดถึงกว้างขวาง ก.ล.ต.จึงได้หารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเกณฑ์ควบคุมเงินสกุลดิจิตอล และเตรียมสอบการระดมทุนโดยออก JFin Coin ของกลุ่ม JMART รวมถึงสรุปแนวทางการกำกับดูแลการซื้อสกุลเงินดิจิตอลให้ได้ภายเดือน ก.พ.61

โดยระบุว่า ที่ผ่านมาทางหน่วยงานต่างๆได้ศึกษาเรื่องนี้มามากแล้วแต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกไป ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ปปง. จะมีส่วนเข้าไปให้ความเห็นเพิ่มเติมจากการศึกษาของ ธปท. เพื่อได้ข้อสรุปในการกำกับดูแลการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล

ทั้งนี้ ภายหลังจากหน่วยงานภาครัฐออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะชน ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่าหากหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก่อนที่ “JFin Coin” จะเข้าซื้อขาย และหากเกณฑ์ดังกล่าวออกมาว่าการดำเนินการระดมทุนของ JMART ไม่เป็นตามเกณฑ์อาจจะส่งผลให้การระดมทุนของบริษัทฯไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ต่อมา นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART จึงรีบออกมาชี้แจงว่า บริษัทไม่มีเจตนาหลอกลวงประชาชน จากการระดมทุนด้วย ICO โดยบริษัทบริษัทมีความตั้งใจและมีเจตนารมย์ที่ดีในการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านการเงินที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศเข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการเงินในประเทศไทย

“เรายืนยันที่จะนำเอาสิ่งที่สร้างสรรค์ และนวัตกรรมทางด้านการเงินเข้ามาเพื่อพัฒนาระบบการเงินของประเทศ ผมตั้งใจอย่างยิ่ง เพราะเห็นว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีทางด้านการเงิน ได้พัฒนาไปไกลมากแล้วในต่างประเทศ หากเรายังคงอยู่ในแบบเดิม อาจล้าหลังไม่ทันกับการแข่งขันที่รุนแรงในระดับโลกได้ และที่ผ่านมาผมและทีมงานได้เข้าพบและหารือกับหน่วยงานกำกับตลอด ตรงไหนที่มีข้อเสนอแนะ เราก็นำมาปรับและทำให้ถูกต้อง ทั้งนี้เราอยู่ระหว่างการเข้าพบหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องอื่นอีกเพื่ออธิบายในเรื่องนี้” นายอดิศักดิ์ กล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.พ.61 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริปโตเคอซีที่ไม่สามารถระบุผู้ออกได้อย่างชัดเจนหรือไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่าหรือไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง จึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี

ทั้งนี้ การที่ ธปท.ออกมาประกาศห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล อีกทั้งการออกกฏเกณฑ์เพื่อควบคุมดูแล ICO และสกุลเงินดิจิตอลส่งผลให้การระดมทุนดังกล่าวยังคงถูกกดดันทางอ้อมมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเวอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ JVC บริษัทย่อยของ JMART กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า กรณีที่แย่ที่สุด หากมีกฏเกณฑ์หรือกฏหมายมากำกับการระดมทุน ICO จาก ก.ล.ต. บริษัทจะปฎิบัติตามกฏเกณฑ์ที่กำหนด เช่น นำเข้ากระดานซื้อขายที่ ก.ล.ต.กำหนด แต่ถ้าหากมีการห้ามจำหน่าย บริษัทก็อาจนำ JFin Coin ไปซื้อขายในตลาดต่างประเทศ หรือรับซื้อเหรียญคืน แต่มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะมองว่าสามารถทำประโยชน์ต่อประเทศได้มากกว่าความเสี่ยง

ทั้งนี้ ยังคงมีการวิตกว่าการระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน ของ JMART ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายแรก นั้น จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนมากน้อยแค่ไหน และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากการทำธุรกรรมดังกล่าวยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรองรับทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์กำกับ ICO ทาง JMART ก็ได้ทำการเปิดขายดิจิทัลโทเคน “JFin Coin” ครั้งแรกในวันที่ 14 ก.พ.61 ซึ่งในวันแรกของการเปิดซื้อขายได้รับยอดจองมาเกิน 90% จากจำนวน JFin Coin ทั้งหมด 300 ล้านเหรียญ แต่จะนำมาทำ ICO จำนวน 100 ล้านเหรียญ ที่หน่วยละ 6.6 บาท (เทียบได้กับ 0.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็นมูลค่าระดมทุนประมาณ 660 ล้านบาท และมีกำหนดเข้าเทรดในตลาด TDAX วันที่ 1 เม.ย.61

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.61 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญทุกหน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงยุติธรรม และกฤษฏีกา มาหารือเกี่ยวกับแนวทางการร่างกฏเกณฑ์ควบคุมดูแลการระดมทุนด้วยการออก ICO และสกุลเงินดิจิทัล

ซึ่งในวันที่ 8 มี.ค.61 นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะไม่มีการพิจารณาเรื่องการกำกับดูแล เนื่องจากผลจากการประชุมระหว่างรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีข้อสรุปให้มีการออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาครอบคลุมดูแลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะมอบหมายให้ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ กฎหมายพิเศษที่จะออกนี้จะครอบคลุมการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกเรื่อง ทั้งไอซีโอ คริปโตเคอเรนซี รวมทั้งวางหลักเกณฑ์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ที่จะระดมทุนผ่านไอซีโอ ตัวกลางและผู้ที่จะจัดทำแพลทฟอร์มตลาดรอง และคุณสมบัติผู้ลงทุน ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งเมื่อมีการออกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าคงใช้เวลาไม่นานเนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

 

จากกรณีการออกกฏหมายพิเศษดังกล่าว ส่งผลให้ JMART ได้เลื่อนการซื้อขาย JFin Coin ออกไปอีก 1 เดือน จากกำหนดการซื้อขายตลาดรองที่ ทีแด็กซ์ (TDAX) วันที่ 2 เม.ย.61 เป็นวันที่ 2 พ.ค.61 เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนกฏเกณฑ์ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัลจากภาครัฐที่คาดว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะออกมาในช่วงมี.ค.- เม.ย.นี้

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมนำ เจฟิน คอยน์  ไปโรดโชว์ไปตลาดต่างประเทศ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 61 ซึ่งจะไปในประเทศที่สนใจสกุลเงินดิจิตอล เช่น จีน ,ญี่ปุ่น  ,ฮ่องกง  ,เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ ให้เหรียญเจฟิน คอยน์ มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยปัจจุบันยังมีโทเคนอีก 200 ล้านโทเคน ซึ่งในอนาคตหากพิจารณาขยายธุรกิจ มีโอกาสที่จะขายจำนวนโทเคนดังกล่าว แต่จะขายให้กับลูกค้าเดิมก่อน

 

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอล นั้น เป็นหนึ่งในกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ทางการไทยเตรียมทยอยบังคับใช้ ซึ่งสะท้อนความตั้งใจของรัฐบาลในการวางกรอบกติกาที่ชัดเจนสำหรับการลงทุนชนิดใหม่นี้ และเป็นการดูแลความเสี่ยงของระบบในภาพรวม

ส่วนประเด็นที่น่าสนใจของ ร่างพ.ร.ก.ดังกล่าว ประกอบด้วย การจัดประเภททรัพย์สินดิจิทัล มีความชัดเจน สอดคล้องกับสากล โดยร่างกฎหมายจะจำแนกประเภททรัพย์สินออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งมีมูลค่าอันถือเอาได้ ไม่ต้องมีการอ้างอิงเงินตราอื่นใด และใช้ซื้อ-ขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยทั่วไปได้ 2. โทเคนดิจิทัล (Digital Tokens) ซึ่งให้สิทธ์แก่ผู้ถือในการแลกเปลี่ยนโทเคนกับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ระหว่างผู้ออกและผู้ถือโทเคน 3. ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ทางกระทรวงการคลังจะกำหนดในอนาคต

ทั้งนี้ ในกฎหมายมีการระบุถึงการเก็บภาษีบนรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัล โดยร่างกฎหมายได้เพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) โดยให้รวมถึงรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัลสองประการ ประการแรก เงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล และประการที่สอง รายได้จากการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมากกว่าเงินลงทุน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับหุ้นแล้ว ภาษีชนิดแรกจะเปรียบเสมือนเงินปันผล (Dividends)

ขณะที่ ภาษีชนิดที่สองจะเก็บบนราคาที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Capital Gains จากการซื้อหุ้น (แต่ในกรณีของไทย ไม่มีการเก็บภาษี Capital Gain Tax จากรายได้การซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อย) อันเท่ากับเป็นปูทางให้สามารถกำหนดอัตราภาษีบนรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัลได้อย่างตรงไปตรงมา

สำหรับรายได้จากทรัพย์สินทั้งสองชนิดนี้ กฎหมายได้กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นักลงทุนต้องจ่าย อยู่ที่อัตรา 15% โดยหัก ณ ที่จ่าย และนักลงทุนยังต้องนำไปรวมในการคำนวณฐานเงินได้สุทธิประจำปีเพื่อเสียภาษีในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้างต้นนี้ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับกฎหมายสุดท้ายที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว รวมถึงกฎกระทรวงที่อาจมีการประกาศตามมาในภายหลัง ขณะที่กระทรวงการคลังยังมีแนวทางกำหนดอัตราภาษีเงินได้ในกรณีนิติบุคคล ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนเช่นกัน

 

โดยประเด็นดังกล่าว ได้ข้อสรุปสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบร่าง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีการปรับแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายของ พ.ร.ก. แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอให้มีการตัดคำว่า “สกุลเงินอื่นๆ” ในร่างกฎหมายออกไปก่อนคงไว้แต่ในส่วนของ “สกุลเงินดิจิทัล” ที่เกิดขึ้นแล้วคือ “คริปโต” และ “โทเคน” โดยหากในอนาคตหากมีสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆเพิ่มขึ้น จึงค่อยมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาเพิ่มเติมต่อไป ขณะที่ในการจัดเก็บภาษีที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมเงินดิจิทัลยังคงสัดส่วนการจัดเก็บตามที่ กรมสรรพากรเสนอมา

ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ในการจัดเก็บภาษีที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลยังคงไว้ที่ 15% และนำไปรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตามหากมีการแลกเปลี่ยนกันโดยไม่มีผลกำไรเกิดขึ้น ให้เสียเฉพาะในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น”

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าติดตามต่อว่า หากกฏหมายพิเศษประกาศใช้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นักลงทุนต้องจ่ายอยู่ที่อัตรา 15% จึงเป็นคำถามที่นักลงทุนต้องหาคำตอบให้กับตัวเองว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวในประเทศไทย นั้น คุ้มค่าหรือไม่?

ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือแม้กระทั่งบจ.ที่ระดมทุนด้วย ICO ยังคงมีความเสี่ยงในแง่ของกระแสตอบรับ หากนักลงทุนจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าเดิมอีกต่อไป

Back to top button