โบรกประสานเสียงเคาะ 5 หุ้นอสังหาฯตัวท็อป! ชูกำไร Q4/62 เด่นสุดของปี-พ่วงปันผลสูง

โบรกประสานเสียงเคาะ 5 หุ้นอสังหาฯตัวท็อป! ชูกำไร Q4/62 เด่นสุดของปี-พ่วงปันผลสูง


ช่วงนี้บริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศงบการเงินปี 2562 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทีมข่าว  “ข่าหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้นอสังหาริมทรัพย์มานำเสนอ เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดการว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 4/62 จะออกมาโดดเด่นและดีสุดของปี 2562 และมีเงินปันผลสูงเป็นส่วนใหญ่

อีกทั้งทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 63 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้นจากปัจจัยบวกอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง และมาตรการกระตุ้นอสังหาของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยจากการสำรวจข้อมลจาก 4 โบรกเกอร์ชั้นนำของไทย อาทิ บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.เอเซีย พลัส, บล.กรุงศรี และบล.กรุงศรี ได้ประสานเสียงชูหุ้น AP,LH,PSH,LPN และ SC เป็นหุ้น Top picks กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ตามบทวิเคราะห์ระบุไว้ดังนี้

บล.ฟินันเซีย ไซรัส  ระบุในบทวิเคราะห์ว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/62 ที่จะทยอยประกาศโดยคาดว่าไม่สดใส โดยมองจุดที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนที่ระดับ 1,500 จุดบวกลบ นอกจากนี้ได้คาดการณ์กำไรกลุ่มอสังหาฯในไตรมาส4/62 จะดีสุดของปี +44% เทียบไตรมาสก่อนหน้าจากการเร่งโอนคอนโดที่สร้างเสร็จจำนวนมาก แต่ -17% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ระยะสั้น SC โดดเด่นสุดทั้งกำไรไตรมาส4/62 และปันผล คาดจ่าย 0.16 บ/หุ้น ภาพอสังหาฯปี 2563ยังมีความท้าทายอีกมาก หลักๆจากกำลังซื้อที่ชะลอ คาดกำไรของกลุ่มโตเพียง 3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้อดีคือราคาหุ้นปรับลงมาจน PE เหลือ 8 เท่า ต่ำสุดในรอบ 10 ปี Top picks เลือก AP (เป้า 8.20 บ.) และ LH (เป้า 12 บ.) จากกำไรและปันผลที่ดีกว่ากลุ่ม  

 

บล.เอเซีย พลัส  ระบุว่าในบทวิเคราะห์ว่า การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 5ก.พ.63มีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยคาดหมาย ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยคาดกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เช่นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากดอกเบี้ยที่ลดลงน่าจะทำให้คุณภาพของ Backlog ที่มีอยู่ราว 3.3 แสนล้านบาทดีขึ้น โดยน่าจะสามารถโอนกรรมสิทธ์ให้ลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หุ้นเด่น  PSH, LH และ AP

โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำภาระผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ที่อยู่อาศัยลดลง ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค และได้ Sentiment เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้น คือ บ้านดีมีดาวน์ รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิม 2% ของราคาประเมิน และค่าจดจำนองจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยดีต่อ LH([email protected]), PSH([email protected]) และ AP([email protected])

 

บล.บัวหลวง ระบุว่าในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มอสังหาฯ (บ้าน) ความเสี่ยงด้านล่างต่ำ ตัวเลขจากการสำรวจของ AREA พบว่าปี 2019 การเปิดตัวโครงการใหม่ ลดลง 16% (ในแง่มูลค่า) และลดลง 5% (ในแง่จำนวน unit) โดยที่คอนโดลดลง 11% อัตราการจองซื้อ (take up rate) ลดลงจาก 43% ในปี 2018 เหลือเพียง 38% ในปี 2019 นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่าปริมาณของสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2019 ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นการแข็งขันที่รุนแรงในปี 2020

มุมมองกลยุทธ์ Action (ระยะสั้น 5-10 วันทำการ): ราคาหุ้นกลุ่มอสังหาฯ เล่นได้แย่กว่าคาด โดยเฉพาะหลังการปรับมาตรการ LTV ดังนั้นเรามองว่าควรเลี่ยงกลุ่มนี้ไปก่อน

Fundamental: ราคาหุ้นในกลุ่มอสังหา (บ้าน) อยู่ในระดับ PE ที่ถูกมากคาดจะเห็นการรีบาวน์ได้ สำหรับ top pick ของกลุ่ม เลือก AP (ผู้นำการเติบโตในปี 2020) LH (คาดกำไร ไตรมาส4/62 โดดเด่น) และ LPN (ปันผลสูงสุด)

 

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่าในบทวิเคราะห์ว่า LPN ถือเพื่อรับเงินปันผล โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/62 ที่ 614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 431%เทียบไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 17%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดของปี  2562 จากการโอนโครงการใหม่ ส่วนปี 2563 บริษัทรุกเปิดโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อหนุน Presales และยอดโอน ให้เป็นไปตามเป้าที่ 10,000 ล้านบาท ปรับประมาณการรายได้ปี 2563 เพิ่มขึ้น 4% เป็น 10,379 ล้านบาท

บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลครึ่งหลังปี2563 ที่ 0.40 บาทต่อหุ้น (Div.Yld. 7.6%) และขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 26 ก.พ.20 คาดว่าเงินปันผลปี 2563 อยู่ที่ 0.53 บาทต่อหุ้น (Div. 10.1%) แนะนำ ถือ โดย LPN ยังมีจุดเด่นจากเงินปันผล ให้ราคาเป้าหมายใหม่อยู่ที่ 5.0 บาท อ้างอิง PER 6.5 เท่า

 

บล.กรุงศรี ระบุว่าในบทวิเคราะห์ว่า LH (ซื้อ/เป้า 11.5) หุ้นกลุ่มอสังหาฯทยอยประกาศงบออกมาอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่โดดเด่นที่เงินปันผล LH เป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอและให้ Dividend yield สูง ราคาหุ้นที่ลดลงมองเป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อเพื่อรับเงินปันผลในปีครึ่งหลังปี 2562ซึ่งคาดว่าจะประกาศจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 0.40 บาทต่อหุ้น ให้ Dividend yield ประมาณ 4%

 

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) เปิดเผยว่า  ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 63 น่าจะมีภาวะค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากปี 62 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

จากปัจจัยบวกอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และปัจจัยลบ ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวในหลายกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการโอนกรรมสิทธิที่อยู่อาศัย -0.2% เนื่องจากลูกค้าชาวจีนมีการชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ โดยเบื้องต้นคาดจะหายไปประมาณ 7,000 ล้านบาท ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ จากเดิมที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อปีเฉลี่ย 29,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 372,500-400,660 หน่วย ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 7.3% และมีมูลค่าถึง 853,100-917,100 ล้านบาท ขยายตัว -2.5% ถึง 4.8% โดยจะมีการโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 197,500-214,300 หน่วย ขยายตัว -0.2% ถึง 8.3% และมีมูลค่าถึง 571,200-614,000 ล้านบาท ขยายตัว -0.2% ถึง 7.3% ซึ่งจะมีสัดส่วนหน่วย 53% และ มูลค่า 67%ของการโอนกรรมสิทธ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ

ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประทศ จะอยู่ที่ประมาณ 117,400-126,780 หน่วย เป็นมูลค่าถึงประมาณ 284,360-305,700 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีสัดส่วนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ 73.6%และ มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 78.1%

ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 คาดว่าจะมีการชะลอการโอนของคนจีนบ้าง เนื่องจากสาเหตุการระบาดไวรัสโคโรนาบ้าง แต่มีผลกระทบไม่มากเนื่องจาก ผู้ซื้อห้องชุดคนจีนมีสัดส่วนพียง 6%ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น

หน่วยที่อยู่อาศัยจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 63 จะอยู่ประมาณ 114,400-122,600 หน่วย โดยเป็นห้องชุดประมาณ 55% หรือประมาณ 62,900 ถึง 67,400 หน่วย โดยการขอใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 ประมาณ 97,500 ถึง 100,400 หน่วย และจะอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 58.4%

การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศประมาณการว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 ประมาณ 292,100-300,900 หน่วย โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 27.4% หรือประมาณ 80,000 ถึง 82,400 หน่วย และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 แต่อาจมากกว่าเล็กน้อยประมาณ 129,000 ถึง 132,900 หน่วย โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 51.1% หรือประมาณ 65,900-67,900 หน่วย ซึ่งหมายความว่า 82% ของอาคารชุดที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

ณ สิ้นปี 62 มีสินค้าพร้อมขาย (สต็อก) รวมจำนวน 258,000 ยูนิต มูลค่ารวมประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมาตราการต่างๆ ยังคงอยู่ในภาวะปัจจุบัน (อัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ในแง่การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV) จะทำให้ ณ สิ้นปี 63 จำนวนสต็อกดังกล่าวจะลดลงเหลืออยู่ที่ระดับ 218,000 ยูนิต มูลค่ารวมประมาณ 0.97 ล้านล้านบาท

ด้านนายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ กล่าวว่า สำหรับปี 63 นี้ ทางศูนย์ฯ จะยังทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ภาคอสังหาฯ และสังคม อย่างต่อเนื่อง และการให้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์จะตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลยิ่งขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ฯได้นำข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้นใช้เพื่อสนับสนุนใน 3 ระดับอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากที่มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการในการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ในปี 62 และให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ดังเช่นยอดมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ในปี 62 สามารถปรับตัวจากการขยายตัวติดลบถึง -8.4% กลับมาเป็นบวกถึง 2.7% และในปี 61 ที่ศูนย์ฯ ได้นำเสนอข้อมูลสู่สังคมและสาธารณชน รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่ายังไม่มีสถานการณ์ของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในขณะนั้นแต่อย่างไร และทิศทางในปี 62 ก็จะไม่มีภาวะฟองสบู่เช่นกัน

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button