ดักเก็บ SSP ลุ้นปี 63 รายได้โต 20% รับรู้รายได้โซลาร์ฟาร์มเพิ่ม 66MW โบรกฯชูเป้า 10 บ.

ดักเก็บ SSP ลุ้นปี 63 รายได้โต 20% รับรู้รายได้โซลาร์ฟาร์มเพิ่ม 66MW โบรกฯชูเป้า 10 บ.


นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฟสที่ 2 และขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังผลิตราว 100-200 เมกะวัตต์ และผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) มากกว่า 10% ขึ้นไป คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้

ขณะเดียวกันบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป กำลังการผลิตขั้นต่ำ 10 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้กับภาคเอกชน แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้

สำหรับโครงการในเวียดนามในขณะนี้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโครงการ Binh Nguyen Solar มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 49.6 เมกะวัตต์ มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่ไตรมาส 2/62 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปีนี้ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงไตรมาส 3/64

โดยปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 301 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน (PPA Equity) อยู่ที่ 214 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในประเทศไทย 51.9 เมกะวัตต์, มองโกเลีย 11.3 เมกะวัตต์, ญี่ปุ่น 80.8 เมกะวัตต์ และเวียดนาม 70.4 เมกะวัตต์ โดยมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 113 เมกะวัตต์ ขณะที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าตั้งเป้ากำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็น 400 เมกะวัตต์ จากการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

“การขยายธุรกิจไปสู่ 4 ประเทศในเอเชีย ทั้งไทย ญี่ปุ่น เวียดนาม และมองโกเลีย ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาทำให้ช่วงนี้บริษัทเห็นโอกาสมากมายในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในโรงไฟฟ้าทุกชนิด เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญการเข้าไปเริ่มพัฒนาโครงการตั้งแต่ต้น ซึ่งเมื่อสำเร็จจะได้กำไรสูงกว่าการไปซื้อโครงการต่อจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหลายโครงการ” นายวรุตม์ กล่าว

นายวรุตม์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้สนใจซื้อโครงการพลังงานทดแทนของบริษัทที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5 โครงการ โดยมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2 โครงการ เพื่อนำเข้าเป็นสินทรัพย์ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในญี่ปุ่น เนื่องจากมีค่าไฟฟ้าสูง ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 63 บริษัทพร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนโครงการพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) และมีกำหนดขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงกลางปี 64  ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ ในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของบริษัทฯ ไปสู่พลังงานลมจากปัจจุบันที่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าโซลาร์เพียงชนิดเดียว

โดยในปี 63 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเกิน 20% และกำไรสร้างสถิติสูงสุดใหม่ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าในมองโกเลียและเวียดนามทั้ง 2 โรง รวม 66 เมกะวัตต์ ที่เข้ามาช่วงกลางปีที่แล้วจะรับรู้เต็มปี รวมทั้ง โรงไฟฟ้ายามากะ จำนวน 34.5 เมกะวัตต์ จะเริ่มรับรู้ช่วงกลางปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้ผลประกอบการเป็นไปตามแผน

ขณะที่แผนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทวางเป้าหมายว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 400 เมกะวัตต์ หรือ 3 เท่า จากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟแล้ว 139 เมกะวัตต์ (รวมเฉพาะสัดส่วนที่ SSP ถือ) โครงการที่กำลังพัฒนาอื่นๆ รวมโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เพิ่งอนุมัติในครั้งนี้ และอีก 129 เมกะวัตต์ จะทยอยขายไฟใน 3 ปีข้างหน้าทั้งหมด ยังเหลืออีกประมาณ 200 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายการลงทุนเพิ่มเติม

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 62 เป็นไปตามแผนงาน โดยรายได้โต 30.6% จากการเริ่มขายไฟในโรงไฟฟ้าในเวียดนาม 49.6 เมกะวัตต์ ในเดือน มิ.ย.และโรงไฟฟ้าในมองโกเลีย 16.4 เมกะวัตต์ ในเดือน ก.ค.ทำให้ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟแล้ว 6 โรง รวมกำลังการผลิตติดตั้งที่ 157 เมกะวัตต์ ขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมรายการพิเศษ FX) สร้างสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯยังได้อนุมัติจ่ายปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานในปี 2562 ในอัตรา 0.11 บาท/หุ้น พร้อมออกวอร์แรนต์ให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อเตรียมไว้รองรับแผนขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยออกวอร์แรนต์ 230.5 ล้านหน่วย ที่ราคาแปลงสิทธิ 10 บาท โดยเงินที่ได้จากการแปลงสิทธิ จะมีเพื่อการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่ยังไม่ประกาศออกมา ไม่เกี่ยวกับทุกโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่ซึ่งมีเงินทุนพร้อมอยู่แล้ว

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 10 บาท/หุ้น อิงวิธี DCF (average WACC 5.0%, no terminal growth) โดย Key catalyst ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าอยู่ที่การ COD โครงการ Solar farm ที่ญี่ปุ่น (Yamaga, Leo 1-2) ขนาดกำลังการผลิตตามสัดส่วนฯรวม 60MW ในปี 2563-2565 ซึ่งเป็น 3 โครงการสุดท้ายที่บริษัทได้รับ PPA แล้วในปัจจุบัน และการเจรจาโครงการลมในเวียดนามและอินโดนีเซียอีกราว 100MW หากสำเร็จจะเป็นอีก Potential upside

Back to top button