IRPC ปักธง “อีบิทด้า” ปี 68 แตะ 2 หมื่นลบ. ชูกลยุทธ์ “3 เอส” ผลักดันธุรกิจโตแกร่ง

IRPC ปักธง "อีบิทด้า" ปี 68 แตะระดับ 2 หมื่นลบ. ชูกลยุทธ์ "3 เอส" เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อผลักดันธุรกิจโตแกร่ง


นางกัญญามาส ฤทธิเดช ผู้จัดการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัทต่อจากนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 3S และ 3C ที่มุ่งเป้าไปที่อิบิทด้าเป็นหลัก โดยตั้งเป้าว่าจะเติบโตมาที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2568 และสู่ระดับ 3 หมื่นล้านในปี 2573

โดยกลยุทธ์ 3 S ได้แก่ Strengthening the core หรือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก ได้แก่ แผนการลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2566

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงาน IRPC 4.0 เป็นการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร เช่น พัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในโรงงานเป็น Smart Operation  ควบคุมและวางแผนระบบการผลิตด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการขายและการตลาด

โดยใช้ระบบดิจิทัล (Customer Centric Digital) ที่ทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการเลือกซื้อน้ำมันดิบ วัตถุดิบ การวางแผนการผลิต และการวางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรสู่ระบบดิจิทัล IRPC ยังให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างต้นทุน และการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรบุคคลให้สอดรับกับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

Striving the growth ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ IRPC เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และ Nitrile Butadiene Latex วัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นถุงมือแพทย์ และการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตในอนาคตต่อไป

Sustaining the future การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในองค์กรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติสามารถนำกลับไปรีไซเคิล

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 152,319 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 จากราคาขายลดลงร้อยละ 24 ตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณขายลดลงร้อยละ 6 โดยโรงกลั่น น้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 192,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 3 เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปรับแผนการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 (COVID-19)

อย่างไรก็ตามอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิต ตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 19,414 ล้านบาท (8.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุส่วนใหญ่จากความต้องการสินค้าและส่วน ต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลง อย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID- 19

ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชภัณฑ์กลุ่มบรรจุภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

Back to top button