MCOT ปิดเช้าชนซิลลิ่ง! รับนายกฯ สั่งทำแผนฟื้นฟูเร่งด่วน

MCOT ปิดเช้าชนซิลลิ่ง! รับนายกฯ สั่งทำแผนฟื้นฟูเร่งด่วน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ปิดตลาดภาคเช้าที่ระดับ 4.88 บาท ปรับตัวขึ้น 1.12 บาท หรือ 29.79% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 46.53 ล้านบาท โดยราคาหุ้นทำจุดสูงสุดของวันที่ระดับ 4.88 บาท (Ceiling)

ทั้งนี้ ราคาหุ้น MCOT ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในวันนี้ หลังจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.),องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และ บมจ.อสมท (MCOT) ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแล ควรติดตามเร่งรัดอย่างใกล้ชิด และทำแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ภายใน 30 วัน

โดยคาดการณ์ว่าแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะส่งผลดีต่อ MCOT ซึ่งปัจจุบันมีผลขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดผลการดำเนินงานปี 2563 สิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 มีผลขาดทุนสุทธิสูงถึง 2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ โดยมีนายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คนร. เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งจะกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.),องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และ บมจ.อสมท (MCOT)

ทั้งนี้ ในส่วนของ อสมท. ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขัน มีปัญหาทั้งจากองค์กรและปัญหาทางการเงิน ซึ่งในอดีตสถานะทางการเงินค่อนข้างดี สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ แต่ปัจจุบันมีผลขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแล ควรติดตามเร่งรัดอย่างใกล้ชิด และทำแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ภายใน 30 วัน

อย่างไรก็ตาม อสมท.ยังมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมาก และเพิ่งจะมีภาระหนี้สินในช่วงหลัง ซึ่งเชื่อว่าถ้าเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด จะสามารถฟื้นฟูได้โดยเร็ว

“เดิมมีรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่อยู่ในแผนฟื้นฟู แต่ปัจจุบันธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank)ได้ออกจากแผนฟื้นฟูไปแล้ว แต่ยังให้กระทรวงการคลังติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนบมจ.การบินไทย (THAI) หลังจากกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้น จึงทำให้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ในวันนี้จึงมีการรายงานความคืบหน้าว่าการดำเนินการเป็นอย่างไรแล้ว สำหรับ อสมท เพิ่งมีมติวันนี้ให้จัดทำแผนมาเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด” นางปานทิพย์ กล่าว

 

 

Back to top button