AH ไตรมาส 1 โชว์กำไรเพิ่ม 28% แตะ 411 ลบ. รับยอดผลิตชิ้นส่วนฯพุ่ง-ต้นทุนลด

AH ฟอร์มสวย! ประกาศผลดำเนินการไตรมาส 1/2564 โชว์รายได้รวมแตะ 5,739 ลบ. หนุนกำไรสุทธิ 411 ลบ. ทางผู้บริหารคาดปี 2564 ผลประกอบการจะดีกว่าปีที่ผ่านมา จากแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เติบโต การควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น


นายเย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส1/2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 5,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 532 ล้านบาท หรือ 10.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 5,208 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิ 411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90 ล้านบาท หรือ 28.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 321 ล้านบาท

โดยรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีออเดอร์จากลูกค้ารายเดิมเพิ่มขึ้นตามความต้องรถยนต์ในตลาดที่สูงขึ้น และมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น หลังจากที่บริษัทคู่แข่งต้องปิดตัวลงจากผลกระทบของโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ มียอดขายเติบโตขึ้น ทั้งในประเทศไทย และในประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้มีการเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์โปรตอนในประเทศมาเลเซียเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในช่วงของเดือนตุลาคม 2563 โดยธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ สนับสนุนรายได้เพิ่มขึ้นถึง 27.76%

ทั้งนี้ประธานกรรมการบริหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความต้องการของรถยนต์ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/2563 โดยรายได้ของบริษัทฯ เติบโตในสัดส่วนที่มากกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรม ในเชิงปริมาณการผลิตต่อคัน ที่เติบโตเพียง 2.68 % เท่านั้น

ขณะเดียวกันรายได้ของยอดขายที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการลดต้นทุน และการเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทและบริษัทในเครือฯรวมถึงบริษัทย่อยในประเทศโปรตุเกส ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพิ่มขึ้นจาก 10.15% ในช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 12.08% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.15%สนับสนุนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 410.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 320.64 ล้านบาท โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 6.16% ในช่วงไตรมาสที่ 1/2563 เป็น 7.16%

“เราคาดว่าผลประกอบการของบริษัทในปี 2564 จะดีกว่าปีที่ผ่านมา จากแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เติบโต  การควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและมีจำนวนการผลิตมากขึ้น รวมถึงบริษัทย่อยในประเทศโปรตุเกสและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น จากเดิมที่มีผลขาดทุนในไตรมาส ที่ 1/2563 แต่สามารถกลับมามีกำไรได้ในไตรมาสที่ 1/2564” นาย เย็บ ซู ชวน กล่าว

Back to top button