จับตา 6 หุ้นแนวโน้มดี-มีสตอรี่หนุนชงกำไรปี 59 โต ปันผลสูงโดนใจ

โบรกฯเลือก 7 หุ้นแนวโน้มดี-มีสตอรี่หนุน ชงกำไรปี 59 -ครึ่งปีหลังโต ปันผลสูงโดนใจ


บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์นำเสนอกลุ่มชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าผลกำไรจะทรงตัวจากจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากผ่านพ้นช่วงฤดูกาลไปแล้วในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ตามมาด้วยกลุ่มพัฒนาอสังหาฯ คาดว่าในไตรมาส 1/59 ยังคงได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ (SC, LPN) และกลุ่มนิคมฯ คาดว่าไตรมาส 1/59 จะชะลอตัว แต่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เมื่อมีการออกกองอสังหาริมทรัพย์ฯ เพิ่มเติม นำโดย WHA

 

:กลุ่มชิ้นส่วนฯ ดีขึ้น หุ้นเด่นคือ KCE, SVI

แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 1/59 จะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/58 (แต่เพิ่มขึ้น 23.1% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน) เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วง Low Season แต่หากพิจารณารายบริษัทพบว่า KCE สามารถทำกำไร New High รายไตรมาส ที่ระดับ 727 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 14.8% จากไตรมาสก่อน และ 58% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน จากแนวโน้มคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น หนุนการดำเนินการผลิต (Utilization Rate) ที่โรงงานลาดกระบังเฟส 1 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 80%

และ SVI กำไรก่อนรายการพิเศษคาดว่าเติบโตเท่าตัวจากไตรมาส 4/58 ซึ่งมีฐานกำไรที่ต่ำมาก เกิดจากที่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าตัวอย่างให้กับลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายนี้ลูกค้าจะเป็นผู้แบกภาระ และยังได้รวมกำไรของบริษัทย่อยที่ไปซื้อกิจการมาเมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมาคือ “Seidel” (ทำชิ้นส่วนฯ ที่ใช้ในกลุ่มระบบขนส่ง และการแพทย์ ซึ่งมีฐานการผลิตในออสเตรีย ฮังการี และ สโลวาเกีย จะใช้เป็นฐานส่งออกไปยังเยอรมันเป็นหลัก แต่ อัตราการทำกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 8% เนื่องจากค่าแรงสูง) 

โดยรวมกำไรสุทธิปี 2559 ทั้งกลุ่มจะเติบโต 12.3% จากปีก่อน สู่ระดับ 1.47 หมื่นล้านบาท นำโดย KCE (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 100 บาท) ที่คาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2559 จะเติบโตถึง 41.9% จากปีก่อน จากการดำเนินการผลิตที่โรงงานลาดกระบังเฟส 1 เพิ่มขึ้น หนุนประสิทธิภาพกำไรดีขึ้น และ SVI (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 7.5 บาท) คาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2559 เติบโตถึง 62.6% จากปีก่อน จากการปรับปรุงโรงงานจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อเดือน พ.ย.57 เสร็จแล้ว จนสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มที่ทั้งปี 2559 และผลบวกจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวข้างต้น เลือก KCE และ SVI เป็น Top picks

 

:กลุ่มพัฒนาอสังหา ยังได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ SC, LPN

แม้โดยปกติภาพรวมกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ไตรมาส 1 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี แต่ในปีนี้ถือเป็นปีที่ดี เนื่องจากได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาของภาครัฐ (ลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และจดจำนอง) ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 28 เม.ย.2559 ช่วยเร่งให้ผู้ซื้อโอนฯ บ้านเร็วขึ้น ต่อเนื่องจากไตรมาส 4/59 ขณะที่การจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ ในวันที่ 10-13 มี.ค. ที่ผ่านมา จะช่วยเร่งระบายสต๊อกสินค้าคงเหลือได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการแนวราบ (บ้าน-ทาวน์เฮ้าส์) ที่สามารถขายและโอนฯ ได้เร็วทันช่วงมาตรการฯ โดยรวมทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานกลุ่มฯ ในไตรมาส 1/59 เติบโตจากไตรมาส 1/58 แต่อาจชะลอตัวจากไตรมาส 4/58 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงพีคสุดของปี อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเป็นรายบริษัท คาดมีบางบริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทั้งจากช่วงเดียวกันในปีก่อน และไตรมาสก่อน คือ SC และ LPN

SC (ราคาเป้าหมาย 4.70 บาท) เนื่องจากยอดโอนฯจะมีทั้งแนวราบ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 60% ของยอดโอน ที่เหลือ 40% เป็นคอนโดฯ ทั้งส่วนที่ต่อเนื่องจากไตรมาส 4/58 คือ Centric Sea พัทยา และ 2 โครงการใหม่ เช่น Centric ห้วยขวาง และ อารีย์ในไตรมาส 1/59 (EPS Growth ปี 2559 9%)

นอกจากนี้ SC ยังจ่ายเงินปันผล ปี 2558 สูงถึงหุ้นละ 0.18 บาท ขึ้น XD 28 เม.ย. 2559 หรือให้ Div Yield 5.6% LPN (ราคาเป้าหมาย 19.20 บาท) คาดผลกำไรจะเติบโตในไตรมาส 1/59 และทำสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาส 2/59 เนื่องจากจะมีคอนโดฯใหม่ที่กำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 มากถึง 6 โครงการ มูลค่า 1.17 หมื่นล้านบาท จากทั้งปี 9 โครงการ มูลค่า 1.75 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดรายได้ขายอสังหาฯ ในครึ่งปีแรกของปี 2559 จะสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 69% ของรายได้ทั้งปี อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในครึ่งปีหลังของปี 2559 จะอ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด หลังการโอนฯ โครงการคอนโดฯ เริ่มน้อยลง

กำไรสุทธิทั้งปี 2559 อาจจะเติบโตต่ำกว่า 7% แต่ยังมีบางบริษัทที่เติบโต เช่น ANAN (ราคาเป้าหมาย 4.4 บาท) มี EPS Growth 11% และ P/E ต่ำราว 8.4 เท่า ตรงข้ามกับ PS (ราคาเป้าหมาย 38 บาท) แม้ปี 2559 จะมี EPS Growth น้อยมาก เนื่องจากฐานรายได้และกำไรที่สูงมาก แต่ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นเป็น 50% จากเดิม 30% ทำให้ Dividend yield สูงถึง 7% และมี P/E ต่ำเพียง 7.7 เท่า เลือก ANAN เป็น top pick

 

:กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

ผลประกอบการไตรมาส 1/59 ของกลุ่มนิคมฯ 3 บริษัทภายใต้ Coverage ของฝ่ายวิจัย (AMATA, WHA และ TICON) มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบของฤดูกาล กล่าวคือ ผู้พัฒนาโรงงาน/คลังสินค้าให้เช่าทั้ง WHA และ TICON (Switch: ราคาเป้าหมาย 10.94 บาท) มักจะขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ฯ (REIT) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปี ขณะที่ไตรมาส 1/59 จะไม่มีกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น และเช่นเดียวกับรายได้จากการขายที่ดินนิคมฯไตรมาส 1/59 มีแนวโน้มหดตัว

ทั้งนี้ภายหลังจาก HEMRAJ (WHA ถือหุ้น 98.54%) ได้โอนที่ดินล็อตใหญ่ในนิคมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด 2 จำนวน 437.5 ไร่ ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ค่าย MG และได้รับรู้รายได้ไปแล้วในไตรมาส 4/58 ขณะที่รายอื่นๆ เช่น AMATA (Switch: ราคาเป้าหมาย 14.17 บาท) รายได้จากการขายที่ดิน คาดยังหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/58 จาก Backlog เหลืออยู่เพียงแค่ 1.3 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของนิคมอมตะซิตี้ และนิคมไทย-จีน ที่มีราคาขายต่ำ

แต่หากพิจารณาภาพรวมทั้งปี 2559 คาดกำไรกลุ่มฯจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ 77% จากปีก่อน เป็น 6.96 พันล้านบาท หลักๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยกำไรของ WHA (แนะนำซื้อ: ราคาเป้าหมาย 4.26 บาท) ที่คาดว่าจะเติบโตแรง 1.6 เท่าตัว จากปีก่อนเป็น 5.1 พันล้านบาท เนื่องจากการจัดทำงบการเงินรวมกับ HEMRAJ (มีการรับรู้รายได้ธุรกิจพัฒนานิคมฯ โรงงานให้เช่า สาธารณูปโภค และโรงไฟฟ้า เข้ามาเต็มปี) และ WHA ทำการชำระคืนหนี้ที่ใช้ซื้อ AMATA จนปัจจุบันชำระคืนได้แล้ว 34% ของยอดหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะชำระคืนที่เหลือได้ทั้งหมดภายในปี 2559 ด้วยแหล่งที่มาของกระแสเงินสดจากการขายสินทรัพย์เข้า REIT ช่วงไตรมาส 3/59 และการ Spinoff ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานเข้าตลาดฯช่วงไตรมาส 4/59 ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แผนการขายสินทรัพย์โรงงาน/คลังสินค้าของ HEMRAJ เข้ากองทรัสต์ H-REIT ในไตรมาส 3/59 และขายคลังสินค้าของ WHA เข้ากองทรัสต์ WHART ในไตรมาส 4/59 จะทำให้การรับรู้กำไรส่วนใหญ่อยู่ที่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เลือก WHA เป็น Top pick

Back to top button