ด่วน! คกก.คัดเลือกฯ ม.36 เคาะล้มประมูล “สายสีส้ม” เสนอ “รฟม.” เปิดยื่นซองใหม่

ด่วน! คกก.คัดเลือกฯ ม.36 เคาะล้มประมูล "สายสีส้ม" เสนอ "รฟม." เปิดยื่นซองใหม่


การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วันนี้มีมติยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอมาเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยให้เปิดประมูลใหม่

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม.ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ (3 ก.พ.) ว่า คณะกรรมการมาตรา 36 ได้มีมติให้ยกเลิกการประมูล และให้ รฟม.พิจารณาเร่งการประมูลราคาใหม่ซึ่งจะทำให้เกิดการดำเนินการเป็นไปตามตามแผน และเป็นประโยชน์สูงสุดกับโครงการ

ทั้งนี้ การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อเดือน พ.ย.63 มีบริษัทยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน 2 กลุ่ม (4 ราย)​ จากเอกชนที่ซื้อเอกสารข้อเสนอทั้งหมด 10 ราย โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)​ หรือ BEM ยื่นข้อเสนอเป็นรายแรก

ตามด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน)​ หรือ BTS บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)​ หรือ BTSC และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)​ หรือ STEC โดยทั้ง 2 กลุ่ม ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนออื่นๆเพิ่มเติม

หลังจากนั้น รฟม.ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม (TOR) ทำให้กลุ่ม BSR ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ รฟม.กลับไปใช้เกณฑ์เดิมในการพิจารณาข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นระหว่างนี้รอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด

นายกิตติกร กล่าวว่า คณะกรรมการมาตรา 36 พิจารณาเห็นว่าการประมูลใหม่สามารถเร่งรัดให้รวดเร็วได้เพื่อจะทำให้ไม่ล่าช้า ขณะที่หากเลือกรอให้ศาลมีคำพิพากษาอาจจะเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมายของ รฟม. โดยการประมูลครั้งใหม่จะกำหนดเวลาได้ชัดเจนและทำให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันแล้ว

โดยกระบวนการทั้งหมดจะเริ่มต้นใหม่ ส่วนจะมีขั้นตอนอย่างไร ทาง รฟม.จะพิจารณากระบวนเปิดประมูลและนำเสนอตามขั้นตอน ส่วนจะถอนคำอุทธรณ์ต่อศาลหรือไม่เป็นเรื่องที่ รฟม.ต้องพิจารณาเอง

    “เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 36 และมีมติออกมา จากนี้จะต้องนำมตินี้ส่งให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนจะใช้เงื่อนไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบเดิมหรือไม่นั้น คณะกรรมการมาตรา 36 ยังไม่ได้พิจารณา โดยจะรอให้ รฟม.ดำเนินการตามขั้นตอนก่อน ซึ่งจะต้องดูระเบียบ ข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 และนำเสนอต่อไป”

อย่างไรก็ตาม การพิจารณายกเลิกประมวลครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการมาตรา 36 เคยมีการพิจารณาไว้ว่า หลังมีการเลื่อนกำหนดเปิดซองข้อเสนอเป็นเวลา 1 เดือนแล้วยังไม่มีข้อสรุปจากกรณีที่มีการฟ้องร้องและเห็นว่ามีแนวโน้มที่การพิจารณาของศาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ข้อรุปเมื่อใด

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม.ได้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

โดยแบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

Back to top button