“สธ.” ย้ำป่วยโควิดแอดมิท รพ.รัฐ-เอกชน ไม่ต้องจ่ายค่ารักษา ยันเตียงเพียงพอรองรับ

"สธ." ย้ำป่วยโควิดแอดมิท รพ.รัฐ-เอกชน ไม่ต้องจ่ายค่ารักษา พร้อมยันเตียงเพียงพอรองรับ


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายไว้ว่าต้องบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้ติดเชื้อทุกรายควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลที่ตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด จะต้องประสานกับโรงพยาบาลในเครือข่าย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย

พร้อมย้ำว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทุกคน จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่ว่าจะเป็น รพ.รัฐบาล หรือ รพ.เอกชน เนื่องจากมีสิทธิการรักษาตามระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม ตลอดจนถึงสิทธิของผู้ที่เป็นข้าราชการด้วย

“การแอดมิทใน รพ.ต้องจ่ายเงินหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะ รพ.เอกชน หรือ รพ.รัฐ ยกเว้นว่ามีประกันส่วนตัว รพ.เอกชนจะสอบถาม แล้วให้ประกันช่วยจ่ายก่อน นอกเหนือจากนั้น 3 กองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุน สปสช. กองทุนข้าราชการที่กรมบัญชีกลางดูแลอยู่ หรือกองทุนประกันสังคม จะรับดูแลให้ประชาชน นี่เป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลประชาชนทุกคนที่แอดมิทที่ รพ.ในการตรวจรักษาโควิด” นพ.สมศักดิ์ระบุ

สำหรับจำนวนเตียงที่เตรียมไว้รองรับผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ (รพ.ปกติ, รพ.สนาม และ Hospitel) มีทั้งสิ้นกว่า 23,483 เตียง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 3,967 เตียง และต่างจังหวัด 19,516 เตียง โดยยังมีเตียงว่างอยู่กว่า 16,000 เตียง ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 เม.ย.64

“ล่าสุดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้รายงานเข้ามาว่าสามารถหา Hospitel ในส่วนของเอกชนเพิ่มขึ้นอีก 3,900 เตียง ซึ่งเป็นการจับคู่โรงพยาบาลกับโรงแรม” นพ.สมศักดิ์กล่าว

สำหรับการเปิดสายด่วนในเรื่องการหาเตียงนั้น จะมีเปิดสายให้บริการในส่วนของสายด่วนกรมการแพทย์ โทร 1668 ให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น., ส่วนสายด่วน สปสช. โทร 1330 ให้บริการตลอด 24 ชม. และจะมีให้บริการเพิ่มเติมตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (13 เม.ย.) ของกรุงเทพมหานคร คือ ศูนย์เอราวัณ โทร 1669 ให้บริการตลอด 24 ชม. แต่จะเป็นเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น

นอกจากนี้ ในเร็วๆ นี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมจะนำแอปพลิเคชั่น “สบายดีบอท” เข้ามาใช้เพื่อให้ประชาชนได้บันทึกอาการของตัวเองขณะรอการแจ้งผลตรวจของ รพ.อยู่ที่บ้าน และแจ้งไปที่ศูนย์ประสานงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำการจัดหาเตียง

“ในอีก 2-3 วัน เรากำลังนำแอปฯ นี้ มาใช้ เมื่อท่านไปตรวจแล้ว สามารถบันทึกอาการตัวเอง และเมื่อผลตรวจเป็นบวก เราจะมีสบายดีบอทให้ท่านบอกเข้ามายังศูนย์ประสานงานของกระทรวงสาธารณสุข แล้วเราจะจัดหาเตียงให้ ซึ่งอีก 2-3 วันจะนำแอปฯ นี้มาใช้ เพื่อให้ประชาชนที่ถนัดในการใช้สมาร์ทโฟนมาใช้ได้ โดยไม่ต้องรอการโทรเข้า 1668, 1330 หรือ 1669” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ ยังชี้แจงถึงข้อกังวลของหญิงที่ติดเชื้อไวรัสโควิดในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วยว่า มีข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่แล้วมากกว่า 2 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดจะไม่แสดงอาการ แต่ทั้งนี้ อาจจะพบมีอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะของโรคอ้วน อายุมาก และมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขณะที่โอกาสที่จะมีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกนั้น ทั่วโลกพบเพียง 2-5% เท่านั้น ซึ่งมีโอกาสทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ 15.1% แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องการแท้งบุตร

“เมื่อหญิงตั้งครรภ์ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ควรต้องปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ที่รับฝากครรภ์…จากข้อมูลของเรายังไม่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ในไทย ติดโควิดแล้วเสียชีวิต” นพ.สมศักดิ์กล่าว

พร้อมย้ำให้หญิงตั้งครรภ์ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย, การล้างมือบ่อยๆ, หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด แต่ถ้าจำเป็น ควรต้องอยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร

นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าตัวเองจะเป็นกลุ่มเสี่ยง และต้องการเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดนั้น หากไม่ต้องการไปตรวจโควิดที่โรงพยาบาล ก็ขอให้ไปใช้บริการในศูนย์แล็ปของเอกชนที่ได้การรับรองตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้ผลตรวจที่ออกมามีความแม่นยำ และเชื่อถือได้จริง

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงคำแนะนำกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในสถานที่ทำงาน หรือในคอนโดมิเนียมมีดังนี้

1.ข้อปฏิบัติสำหรับบุคคล

– ให้พนักงาน/ผู้พักอาศัย หยุดงานทันที และแยกตัวเองจากผู้อื่น

– แจ้งพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ภายใน 3 ชม. เพื่อควบคุมโรคและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง

– ผู้มีความเสี่ยงสูง ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งกักตัว 14 วัน

– ผู้มีความเสี่ยงต่ำ แยกตัวเองเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที

2.ข้อปฏิบัติสำหรับสถานที่

– หยุดกิจกรรมในแผนก/ชั้น ที่มีคนติดเชื้อ 1-3 วัน เพื่อทำความสะอาด

– พนักงาน/ผู้พักอาศัย ทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น โต๊ะทำงาน,โทรศัพท์

– ทำความสะอาดบริเวณที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องน้ำ

– ระมัดระวังการเก็บขยะติดเชื้อ

– พนักงานทำความสะอาดต้องสวมอุปกรณ์ เช่น ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก และรองเท้ายางหุ้มแข้งตลอดเวลา

3.ข้อปฏิบัติสำหรับระบบ/สภาพแวดล้อม

– ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ, จุดจ่ายแอลกอฮอล์เจล

จัดการแยก/ทำลาย ขยะติดเชื้อ

จัดการระบบระบายอากาศให้หมุนเวียนได้ดีขึ้น

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 11 เม.ย. 64 มีผู้ได้รับวัคซีนทั่วประเทศรวมแล้ว 570,052 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 498,791 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มสอง 71,261 ราย

การจัดหาวัคซีนของประเทศไทยยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนวัคซีนจากซิโนแวก ที่ไทยเพิ่งได้รับเข้ามาเมื่อวันที่ 10 เม.ย. จำนวน 1 ล้านโดสนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพก่อนจะจัดสรรต่อไปยังทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน

Back to top button