
ศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาด “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้คดี “จำนำข้าว” 10,028 ล. เหตุละเลยตรวจสอบโครงการ
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากความเสียหายโครงการจำนำข้าว หลังละเลยไม่สั่งการตรวจสอบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ด้านโบรกฯ มองว่ากรณีดังกล่าวอาจส่งแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ค.68) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กระทรวงการคลัง เป็นเงินจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จากความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งพบว่ามีการทุจริตหลายจุด

ศาลระบุว่า แม้นโยบายจำนำข้าวจะเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี แต่การดำเนินโครงการถือเป็นการกระทำทางปกครอง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงอาจมีความรับผิดในทางละเมิดได้ หากมีการละเว้นหรือเพิกเฉยอย่างมีนัยสำคัญ โดยในกรณีนี้ ศาลเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้รับรายงานการทุจริตและคำทักท้วงจากหน่วยงานตรวจสอบหลายแห่ง แต่กลับไม่สั่งการหรือตรวจสอบต่อเนื่อง จึงเข้าข่ายความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ศาลได้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่เคยเรียกชดใช้มูลค่า 35,717 ล้านบาท เฉพาะในส่วนที่เกินกว่า 10,028 ล้านบาท พร้อมเพิกถอนคำสั่งอายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่เกินจากจำนวนดังกล่าว และให้กันส่วนทรัพย์สินของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภายใน 60 วัน
คดีนี้มีจุดเริ่มต้นจากคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งอ้างอิงผลการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่าเกิดความเสียหายจากการบริหารโครงการรับจำนำข้าว และเรียกให้นางสาวยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบในวงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายอนุสรณ์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยระบุว่าคำสั่งทางปกครองดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดต่อสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของคู่สมรส
ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และกระทรวงการคลังได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในเวลาต่อมา
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า หากเปรียบเทียบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกับศาลปกครองกลาง จะพบว่ามีส่วนหนึ่งที่ตรงกัน กล่าวคือ ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ซึ่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ รับผิดในโครงการจำนำข้าว ปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 เป็นจำนวนเงิน 187,000 ล้านบาท โดยให้รับผิดชอบในอัตรา 20% หรือกว่า 35,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ ทั้งสองศาลมีความเห็นตรงกันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิด เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นผลจากการคำนวณการขาดทุนของทั้งสองโครงการ
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีจุดที่แตกต่างจากศาลปกครองกลาง โดยระบุให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดในส่วนของขั้นตอนการระบายข้าว ซึ่งศาลเห็นว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในประเด็นการรับผิดกว่า 1 หมื่นล้านบาทในขั้นตอนการระบายข้าวนั้น นายนรวิชญ์ชี้ว่า ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีข้าวคงเหลือในโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 18.9 ล้านตัน โดยในคำสั่งของกระทรวงการคลังได้ระบุไว้ว่า หากภาครัฐสามารถขายข้าวดังกล่าวได้ในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีของโครงการได้คำนวณไว้ ณ เวลานั้น ก็สามารถนำผลต่างราคาดังกล่าวมาหักลบกับจำนวนเงินที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบได้
“ปัจจุบัน ข้าวจำนวน 18.9 ล้านตัน เพิ่งขายหมดในรัฐบาลนี้ และมีบางช่วงขายได้กิโลกรัมละ 25 บาท เป็นมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาหักถอนกับเงินจำนวนกว่าหมื่นล้านบาทได้ นายกยิ่งลักษณ์ก็อาจจะไม่ต้องชดใช้เลย” นายนรวิชญ์กล่าว
ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังระบุว่า ทนายพยายามจะยื่นหลักฐานดังกล่าวในคดีนี้แล้ว แต่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงได้สิ้นสุดลงไปก่อน ทำให้ศาลไม่รับพิจารณาหลักฐานใหม่ อย่างไรก็ดี ทีมทนายจะหารือกันต่อว่าจะสามารถยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ในประเด็นนี้ได้หรือไม่ โดยจะดำเนินการในส่วนนี้ให้ถึงที่สุด เพื่อขอคืนความเป็นธรรมให้อดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PST ให้ความเห็นว่า คำตัดสินครั้งนี้อาจส่งแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง โดยเฉพาะต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาคนสำคัญ
ทั้งนี้ ควรจับตาการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ซึ่งมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2568 โดยมองว่า ตลาดอาจเริ่มให้น้ำหนักกับปัจจัยการเมืองภายในเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
ขณะที่กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ หรือใช้แนวทาง Selective Stock โดยหุ้นเด่นยังรวมถึง TOP, BTG, MINT, KTB, SCB, CPF และ GFPT
ข่าวศาลปกครอง ฉบับเต็ม คลิกที่นี่