
ThaiBMA หั่นเป้าหุ้นกู้ 8 แสนล้าน พบครึ่งปีแรก 14 บริษัทขอเลื่อนจ่ายหนี้ 1.7 หมื่นล้าน
ThaiBMA หั่นคาดการณ์ออกหุ้นกู้ปี 68 เหลือ 8 แสนล้านบาท หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและเจอแรงกดดันจากภาษีสหรัฐฯ เอกชน 14 รายแห่ขอเลื่อนชำระหนี้ มูลค่ารวมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายภาษีนำเข้าแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างชัดเจน
จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ ได้ปรับประมาณการยอดการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนตลอดทั้งปี 2568 ลงมาอยู่ที่ระดับ 800,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 850,000-900,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี มีการออกหุ้นกู้เพียง 398,000 ล้านบาท ลดลง 19.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยทั้งกลุ่ม Investment Grade และ High Yield ต่างหดตัว
สำหรับมูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้ไทย ณ ครึ่งปีแรก 2568 อยู่ที่ 17.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 93% ของ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.1% จากปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล
ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA เปิดเผยว่า ภาพรวมการออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีแรก พบว่ากลุ่มพลังงานมีการออกหุ้นกู้สูงสุด แซงหน้ากลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ออกหุ้นกู้สูงถึง 30,000 ล้านบาท ตามมาด้วย IRPC และบางจากฯ เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจและควบรวมกิจการ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอยาวทำให้บริษัทหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยในครึ่งปีแรกมีบริษัท 14 รายขอเลื่อนชำระคืนหุ้นกู้ มูลค่ารวม 17,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ 9-11 รายเป็นผู้ที่เลื่อนชำระครั้งแรก และคาดว่าทั้งปีอาจมีจำนวนผู้ขอเลื่อนชำระแซงหน้าปี 2567 ที่มี 17 ราย มูลค่ารวม 37,900 ล้านบาท
นางสาวอริยา ระบุเพิ่มเติมว่า แม้กลุ่ม High Yield จะยังถูกจับตามอง แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีปัญหา โดยบางรายเป็นบริษัทใหม่ที่ยังไม่ได้จัดอันดับเครดิตแต่มีฐานะมั่นคง ในทางกลับกัน บริษัทขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการไม่ดีก็อาจมีความเสี่ยงได้เช่นกัน
ทั้งนี้ มองว่าเป็นจังหวะที่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะกลุ่ม High Net Worth หันมาลงทุนในหุ้นกู้บริษัทใหญ่ที่ผลตอบแทนอาจต่ำลงแต่มีความมั่นคงมากกว่า ในขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้และบริษัทผู้ออกต่างปรับตัว โดยการสื่อสารและวางแผนเป็นกุญแจสำคัญในการผ่านช่วงวิกฤตนี้
นอกจากนี้ ThaiBMA ยังคงเดินหน้าพัฒนาแนวทาง Bond Governance และการกำกับดูแลตราสารหนี้ High Yield เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดตราสารหนี้ไทย พร้อมทั้งยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น