สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่ซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันพฤหัสบดีนี้ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ยังคงปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,599.82 จุด ลดลง 30.42 จุด หรือ -0.09% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,227.26 จุด เพิ่มขึ้น 0.74 จุด หรือ +0.02% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,924.91 จุด เพิ่มขึ้น 43.19 จุด หรือ +0.31%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) ที่ระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเดินทางและอสังหาริมทรัพย์ แต่การเปิดเผยข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอของเยอรมนี และความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะยกเลิกข้อจำกัดในการควบคุมโรคโควิด-19 ในเดือนนี้นั้น ได้สกัดกั้นการปรับตัวขึ้นของตลาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 454.01 จุด เพิ่มขึ้น 0.45 จุด หรือ +0.1%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,551.01 จุด เพิ่มขึ้น 7.45 จุด หรือ +0.11% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,095.09 จุด เพิ่มขึ้น 17.87 จุด, +0.25% ส่วนดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,640.60 จุด ลดลง 36.55 จุด หรือ -0.23%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ รวมถึงกลุ่มเดินทางและสันทนาการ นอกจากนี้ การคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียนในอังกฤษได้ช่วยหนุนตลาดด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,095.09 จุด เพิ่มขึ้น 17.87 จุด หรือ +0.25%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ในสัปดาห์นี้ รวมทั้งรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 82 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 70.05 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 73 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 72.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ ( 8 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐที่ลดลงสู่ระดับต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 4.4 ดอลลาร์ หรือ 0.23% ปิดที่ 1,894.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 28.7 เซนต์ หรือ 1.02% ปิดที่ 27.731 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 12.3 ดอลลาร์ หรือ 1.05% ปิดที่ 1,162.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 30.70 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 2,807 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตัวเลขขาดดุลการค้าที่ลดลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.14% แตะที่ 90.0731 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.48 เยน จากระดับ 109.26 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2105 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2070 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.8963 ฟรังก์ จากระดับ 0.8972 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2180 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2195 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4164 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4183 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7742 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7760 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button