สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 มิ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 มิ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์เดิมถึง 1 ปี และเฟดคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 อย่างไรก็ดี การพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีช่วยหนุนดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,823.45 จุด ลดลง 210.22 จุด หรือ -0.62% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,221.86 จุด ลดลง 1.84 จุด หรือ -0.04% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,161.35 จุด เพิ่มขึ้น 121.67 จุด หรือ +0.87%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลงมากที่สุดตามการร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 459.33 จุด ลดลง 0.53 จุด หรือ -0.12%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,153.43 จุด ลดลง 31.52 จุด หรือ -0.44% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,666.26 จุด เพิ่มขึ้น 13.61 จุด หรือ +0.20% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,727.67 จุด เพิ่มขึ้น 17.10 จุด หรือ +0.11%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ร่วงลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด แต่หุ้นกลุ่มสายการบินปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด เนื่องจากอังกฤษมีแผนการที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทาง

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,153.43 จุด ลดลง 31.52 จุด หรือ -0.44%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิมถึง 1 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมัน หลังมีรายงานว่าอังกฤษพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นรายในวันเดียว

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 1.11 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 71.04 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 1.31 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 73.08 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) โดยสัญญาโลหะมีค่าปรับตัวลงเป็นวงกว้าง ซึ่งรวมถึงสัญญาพัลลาเดียมที่ทรุดตัวลงถึง 11% เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 86.6 ดอลลาร์ หรือ 4.65% ปิดที่ 1,774.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.956 ดอลลาร์ หรือ 7.03% ปิดที่ 25.856 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 86.7 ดอลลาร์ หรือ 7.59% ปิดที่ 1,055.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 324.60 ดอลลาร์ หรือ 11% ปิดที่ 2,512.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) โดยดอลลาร์ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเปิดเผยว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.79% แตะที่ 91.8715 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9171 ฟรังก์ จากระดับ 0.9061 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2351 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2266 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 110.24 เยน จากระดับ 110.49 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1914 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2018 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3925 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4003 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7553 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7615 ดอลลาร์

Back to top button