
“พลังงาน-ปตท.” เปิดโต๊ะเจรจา “Alaska LNG” ตั้งเป้านำเข้า 3-5 ล้านตัน/ปี
ปลัดกระทรวงพลังงาน นำทีมผู้บริหาร “กฟผ. - PTT – EGCO” เยือนรัฐอะแลสกา เพื่อเปิดโต๊ะเจรจาหวังปักหมุดความร่วมมือโครงการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว “Alaska LNG” รองรับดีมานด์ไฟฟ้าโตแรงจาก EV-AI-Data Center พร้อมตั้งเป้านำเข้า 3-5 ล้านตัน/ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.68 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ได้เดินทางไปยังรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา คณะกรรมาธิการด้านรายได้และทรัพยากรธรรมชาติ ประธานบริษัท Alaska Gasline Development Corporation และผู้แทนจากบริษัท Glenfarne
การเดินทางดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการเยือนไทยของนายไมค์ ดันลีย์ (Mr. Mike Dunleavy) ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอความร่วมมือเพิ่มเติมกับไทย ในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG ต่อเนื่องจากความร่วมมือด้านการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีอยู่เดิม
นายประเสริฐ กล่าวว่า จากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึง เทคโนโลยี AI, บริการคลาวด์ (Cloud Service) และการขยายตัวของศูนย์ข้อมูล (Data Center) ทำให้ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานสะอาด “Alaska LNG” จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกในอนาคต สำหรับการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในราคาที่เหมาะสม ที่จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาวได้
การเจรจาครั้งนี้จะช่วยเน้นย้ำความสนใจของไทยที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG ในหลากหลายมิติ ได้แก่ ด้านการลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในแหล่งดังกล่าว รวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวจากสหรัฐฯ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งแหล่งอะแลสกา ถือเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลทรัมป์อย่างเข้มแข็ง
โดยเฉพาะพื้นที่ North Slope ซึ่งมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่พิสูจน์แล้วมากกว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และสามารถผลิต LNG ได้กว่า 40 ล้านตันต่อปี ส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกได้สะดวก และในราคาที่แข่งขันได้
“เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซต่ำ และสหรัฐฯ ใช้เครื่องจักรในการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ภายใน 10-15 วัน ในขณะที่ขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางใช้ระยะเวลาถึง 25-30 วัน” ปลัดกระทรวงพลังงานระบุ
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้พบกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมือง Keanu ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโครงการ LNG ปัจจุบัน โดยชุมชนให้การสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง และพร้อมร่วมมือกับนานาชาติในการขยายการลงทุนในอนาคต
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาปริมาณของการนำเข้าก๊าซ จากแหล่ง Alaska LNG ที่เหมาะสม ซึ่งอาจอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ PTT, กฟผ. และ EGCO ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต การเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( LNG Shipper) ของไทย ดำเนินการเจรจารายละเอียดของโครงการและพิจารณาความเหมาะสมในเชิงธุรกิจ ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ ต่อไป