
“จตุพร–ฉันทวิชญ์” ถก ส.อ.ท. จัดทำปฏิญญาร่วมรัฐ–เอกชน รับมือความผันผวนการค้าโลก
กระทรวงพาณิชย์ จับมือ ส.อ.ท. เดินหน้าร่างปฏิญญาความร่วมมือรัฐ–เอกชน รับมือภาวะผันผวนของการค้าโลก พร้อมวางแนวทางเชิงรุกจากข้อเสนอ 5 ด้าน หวังหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเป็นระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เข้าหารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก
นายจตุพร ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้า เช่น มาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ และกลไกปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ตลอดจนปัจจัยจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเดินหน้าจัดทำ “ปฏิญญาความร่วมมือ” ร่วมกับ ส.อ.ท. เพื่อวางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ พร้อมตั้งกลไกติดตามความคืบหน้าทุก 10 วัน เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและตอบสนองต่อภาคธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
“กระทรวงพาณิชย์ต้องเดินหน้าแบบพาณิชย์หนึ่งเดียว จับมือกับ FTI ONE ในการบูรณาการความร่วมมืออย่างจริงจัง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอจากสภาอุตสาหกรรมฯ ส่วนใหญ่สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน 10 ด้านของกระทรวงพาณิชย์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการผลักดันเศรษฐกิจฐานราก การใช้กลยุทธ์ Soft Power และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั่วประเทศ
“วันนี้เราต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ กระทรวงพาณิชย์พร้อมเปิดใจรับฟัง และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ทีมไทยแลนด์ต้องเดินหน้าอย่างเป็นหนึ่งเดียว เพื่อผลักดันไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย ให้เกิดขึ้นจริง” นายจตุพร กล่าว
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล โดยได้นำเสนอข้อเสนอสำคัญ 5 ด้าน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะ “ทีมไทยแลนด์” อย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถรับมือกับทั้งวิกฤตและสร้างโอกาสใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นแรก ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดันมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการทางภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) โดยขอให้สนับสนุนทางด้านกฎหมายและจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าธรรมเนียมใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O)
ประเด็นที่สอง เสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาลดภาษีรายสินค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะภายใต้มาตรา 232 ที่ยังจัดเก็บภาษีสูงในสินค้าสำคัญของไทย เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
ประเด็นถัดมา ส.อ.ท. เสนอให้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบจากภาวะ Trade Diversion โดยเห็นว่าภาครัฐควรสามารถริเริ่มกระบวนการใช้มาตรการทางการค้าได้โดยไม่ต้องรอให้เอกชนยื่นคำร้อง พร้อมทั้งใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้ครบถ้วน เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD), การปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) รวมถึงการพิจารณาควบคุมการนำเข้าสินค้าที่มีปริมาณเพิ่มสูงผิดปกติภายใต้พระราชบัญญัติการนำเข้า–ส่งออก พ.ศ. 2522
ด้านการเปิดตลาดใหม่ ส.อ.ท. สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ เช่น ไทย–ยูเรเซีย (EAEU) และสนับสนุนโครงการ SME Pro-active รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เช่น Trade Mission นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าที่ผลิตในประเทศภายใต้โครงการ Made in Thailand (MiT)
สุดท้าย ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐร่วมสร้างระบบนิเวศทางการค้าชายแดนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเน้นการบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการ และระบบการค้าชายแดนแบบครบวงจร