ก.ล.ต. รับรางวัลองค์กรดีเด่น “คุ้มครองสิทธิ-เสมอภาคระหว่างเพศ”

ก.ล.ต. ได้รับรางวัล “องค์กรดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” ในวันสตรีสากล 2565 สะท้อนความมุ่งมั่นของหน่วยงานในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มบทบาทสตรีในระดับผู้นำองค์กรในตลาดทุนไทย


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานมอบรางวัล ในงาน “วันสตรีสากล ประจำปี 2565” ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรที่มีบทบาทการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การคุ้มครองสิทธิสตรีหรือการพัฒนาศักยภาพสตรี

โดย ก.ล.ต. เป็น 1 ใน 4 หน่วยงานองค์กรที่ได้รับรางวัลหน่วยงานองค์กรดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565

สำหรับรางวัลนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของ ก.ล.ต. ในการดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศที่สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และพันธกิจที่ได้รับมอบหมายตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ แผน NAP จากคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนและสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ในเป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

ขณะที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ขับเคลื่อนแผนดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทยร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มบทบาทสตรีในระดับผู้นำองค์กร และส่งเสริมทักษะจำเป็นให้กับสตรีและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเหมาะสม โดยเสริมสร้างความรู้ด้านการจัดการเงินส่วนบุคคล การสร้างวินัยทางการเงินเพื่อความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่สตรีกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น ผู้แทนกลุ่มสตรีผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ต้องขังหญิงใกล้พ้นโทษ เป็นต้น รวมทั้งออกเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สนับสนุนการออกตราสารทางการเงินเพื่อสังคม และให้ความสำคัญกับการดำเนินการภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม” นางสาวรื่นวดี กล่าว

อย่างไรก็ดี มีแนวทางการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศของบริษัทในตลาดทุนไทย การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความรู้ทางการเงิน และเครือข่ายความร่วมมือในตลาดทุน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรม โดยในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนร้อยละ 30 ที่มีกรรมการหญิงอย่างน้อยร้อยละ 30 เพิ่มจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 27 เนื่องจากเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้น ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนจึงจำเป็นต้องมีความหลากหลาย (board diversity) เพื่อให้มีมุมมอง ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะเฉพาะ และข้อมูลในเชิงลึก ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งสู่เป้าหมายธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Back to top button