CPF ส่งเสริม “เลี้ยงสัตว์” ยกระดับเกษตรกรรายย่อย

CPF ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์-ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี ยกระดับเกษตรกรรายย่อย กว่า 5,900 ครัวเรือน และช่วยพัฒนาชุมชนในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน


นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ยก “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย” ที่ดำเนินต่อเนื่องตลอด 5 ทศวรรษ มาร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทยกว่า 5,900 ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย

โดยตลอดระยะเวลา 47 ปี นับตั้งแต่บริษัทฯได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย ตั้งแต่ปี 2518 นอกจากช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็น สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยประยุกต์ใช้ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง มีส่วนช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ โครงการฯ ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ การขจัดความยากจน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในการผลิตเนื้อสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถส่งต่อให้ลูกหลานสืบทอดเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองต่อได้ ตอบโจทย์เป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ภายใต้เสาหลัก อาหารมั่นคง และสังคมพึ่งตน  สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)

โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรกว่า 5,900 ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการฯ ช่วยสนับสนุนงานที่มีคุณค่าให้กับเกษตรกรไทย โดยบริษัทฯ เป็นผู้ถ่ายทอดให้เกษตรกรมีความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าได้ประสิทธิภาพ มีผลผลิตแน่นอน มีแหล่งรับซื้อผลผลิตในราคาที่ตกลงไว้ล่วงหน้า เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการขยายกิจการ ช่วยลดความเสี่ยงให้สามารถดำเนินการผลิตเนื้อสัตว์ได้ต่อเนื่อง ร่วมสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนทั้งประเทศ

“ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง  ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินครัวเรือนของเกษตรกรไทย ลูกหลานของเกษตรกรมีโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น และหลายคนกลับมาสานต่ออาชีพของพ่อแม่ ร่วมพัฒนาให้การผลิตมีความทันสมัยขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยการผลิต ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรยุค 4.0” นายสมพร กล่าว

นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกรที่ดีขึ้นแล้ว โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์เกษตรกรรายย่อยของ CPF ยังส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถยกระดับระบบการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว

อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยระบบก๊าซชีวภาพ (biogas system) ซึ่งช่วยจัดการของเสียที่สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าภายในฟาร์ม และร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ฟาร์มเกษตรกรบางพื้นที่ยังแบ่งปันน้ำที่ผ่านการบำบัดได้มาตรฐานแล้วให้กับเพื่อนเกษตรกรที่ทำอาชีพเพาะปลูกมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย

นายสมพร กล่าวเสริมว่า บริษัทฯถ่ายทอดองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญต่างๆ ให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ เป็นประจำทุกปี ช่วยสนับสนุนการทำปศุสัตว์อย่างยั่งยืน และเกษตรกรสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทาย และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมถ่ายทอดระบบการจัดการฟาร์ม และระบบป้องกันโรคที่ดี ที่ผ่านมา ช่วยให้เกษตรกรในโครงการฯ ส่วนใหญ่สามารถป้องกันโรค ASF ได้อย่างมั่นใจ

ทั้งนี้ โครงการฯ ยังช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้และตระหนักถึงการดำเนินงานที่รับผิดชอบ เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน เช่น การจัดการแรงงานตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน (Good Labour Practice: GLP) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice: GAP) การเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น โดย CPF จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรในโครงการฯ สามารถติดต่อขอคำแนะนำ และความคิดเห็นจากเกษตรกรถึงผู้บริหารโดยตรง ช่วยเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อีกด้วย

โดยความสำเร็จของโครงการฯ ร่วม 5 ทศวรรษ ส่งผลให้องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ โครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งแก่เจ้าหน้าที่เกษตร FAO จากหลายประเทศทั่วโลกติดต่อกันถึง 2 ปี (2558-2559) โดย FAO ได้นำสัญญาคอนแทรคฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางสากลของ UNIDROIT หน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก มาเป็นต้นแบบให้หลายๆ ประเทศได้นำไปศึกษาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศต่อไป

Back to top button