“ปศุสัตว์-ศุลกากร” รุกหนัก! กวาดล้าง “หมูเถื่อน” หวั่น ASF ระบาดซ้ำซาก

“กรมปศุสัตว์-กรมศุลกากร” เดินหน้ากวาดล้าง “หมูเถื่อน” ต่อเนื่อง หวังป้องกันการระบาดของโรค ASF รวมถึงเร่งฟื้นฟูการผลิตสุกรไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ


การปราบปรามหมูลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจ และเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยที่ไม่ต้องนำสุขภาพไปเสี่ยงกับสารปนเปื้อน โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงที่อาจแฝงมากับหมูผิดกฎหมาย ซึ่งประเด็นความปลอดภัยทางอาหารและสุขภาพของคนไทย ถูกหยิบยกเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการผนึกกำลังแถลงข่าวของผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เรียกร้องให้ภาครัฐจริงจังในการแก้ปัญหา หลังพบว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” มาเดือนละกว่า 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง แล้วนำมากระจายฝากในห้องเย็นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำมาเสนอขายในรูปแบบออนไลน์ให้ราคากิโลกรัมละ 135-145 บาทเท่านั้น สร้างแรงกดดันให้เกษตรกรไม่กล้าลงเลี้ยงรอบใหม่ เพราะหวั่นขาดทุน

โดยภายหลังจากแถลงข่าว กรมปศุสัตว์ และ กรมศุลกากร ได้ร่วมมือตรวจจับอย่างจริงจัง เพียงไม่กี่วันก็มีการตรวจจับและอายัติ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าได้หลายราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 กรมปศุสัตว์ ตรวจพบหมูเถื่อน จากห้องเย็นแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5,375 กิโลกรัม

ถัดมาอีกวัน ศุลกากรภาคที่ 2 สกัดยึดเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า ระหว่างทางขนส่งปลายทางที่ จังหวัดมหาสารคาม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยพบซากหมูต้องสงสัยลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ 4 รายการ ประกอบด้วย ไส้ตันสุกร ระบุข้างกล่องประเทศเยอรมัน ตับสุกร ระบุข้างกล่องอาเจนติน่า ไส้สุกร ไม่ทราบแหล่งที่มา และราวนมสุกร ระบุข้างกล่องเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ยังได้เข้าตรวจสอบห้องเย็น 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ พบไม่มีใบเคลื่อนย้ายและไม่มีใบนำฝาก จึงทำการอายัดซากสุกรไว้กว่า 53 ตัน

ล่าสุด วันที่ 13 กันยายน 2565 กรมปศุสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบมีใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลาง ซึ่งซากสัตว์ และพบชิ้นส่วนสุกรน้ำหนัก รวมทั้งสิ้น 1,050 กิโลกรัม ไม่ทราบแหล่งที่มา เป็นชิ้นส่วนสามชั้น มีตราประทับ DE ที่ผิวหนัง ในบริเวณใกล้เคียงพบกล่องสินค้าสามชั้นนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มีเอกสารนำเข้าจากต่างประเทศ เข้าข่ายการกระทำความผิด จึงอายัดชิ้นส่วนสุกรเหล่านั้น โดยกล่องบรรจุภัณฑ์นำเข้ายี่ห้อ Food Family (เยอรมัน) จำนวน 50 กล่อง และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเอกสารมาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถนำมาแสดงภายในเวลาที่กำหนด จะร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีประกาศเรื่องกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ในชนิดสัตว์สุกรและหมูป่า ทำให้การเคลื่อนย้ายซากสุกรทุกครั้ง ต้องแจ้งการเคลื่อนย้ายในพื้นเขตโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 นั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างซากสัตว์แช่แข็ง เพื่อทำการตรวจสอบวิเคราะห์หาเชื้อ ASF และสารเร่งเนื้อแดง เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้ายังห้องปฏิบัติการต่อไป

สำหรับหมูเถื่อนลักลอบนำเข้า ถือเป็นภัยร้ายที่ทำลายเป้าหมายในการฟื้นฟูการผลิตสุกรไทย ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะถ้าปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบนำเข้า จนกระทบกับราคาหมูในประเทศ ผู้เลี้ยงก็ไม่กล้าลงทุนกลับมาเลี้ยงใหม่อย่างแน่นอน เพราะเกรงว่า จะขาดทุน ที่สำคัญ เนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้อาจมีเชื้อ ASF หรือโรคระบาดอื่นๆ ปนเปื้อนมาด้วย ถือเป็นความเสี่ยงกับผู้เลี้ยงสุกร ที่ขณะนี้ไทยไม่พบรายงานการระบาดของโรค ASF ในสุกรมากกว่า 50 วันแล้ว จึงต้องเร่งจัดการหมูเถื่อน เพื่อป้องกันความเสียหายจากโรคระบาดซ้ำซากอีกด้วยที่สำคัญ หมูเถื่อน ยังเป็นอันตรายกับผู้บริโภค

ด้านนายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ย้ำว่าหมูลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีการจับกุมต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีโอกาสปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง  เนื่องจากหมูผิดกฎหมายนี้ เป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกาและยุโรปไม่บริโภค ไม่ว่าจะขา หัว และเครื่องใน การลักลอบนำเข้าจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ นี้ อาจมีสารแรคโตพามีน ที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯ และบางประเทศของยุโรป สามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี ต่างจากไทยที่มีประกาศในกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 จนกระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ. 2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546

โดย หมูเถื่อน เป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวมาก เนื่องจากเป็นอันตรายทั้งต่อผู้บริโภค ผู้เลี้ยง และอุตสาหกรรมโดยรวม  ซึ่งผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไปรับประทาน อาจก่อให้เกิดอันตราย อาทิ อาการหัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน และจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ผู้บริโภคจะเลือกของถูก แต่อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะได้รับสารสะสมในอนาคต

ทั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ “กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร” ที่ต้องร่วมมือกันในการตรวจสอบห้องเย็นในทุกพื้นที่เสี่ยง “ทุกวัน” เพื่อจับกุมผู้ทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ที่คิดจะทำเกรงกลัว พร้อมขยายผลออกไปถึงตัวผู้นำเข้า เพราะทุกวันนี้แม้มีการตรวจจับอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังมีการเสนอขาย รับคำสั่งซื้อ หมูกล่องผ่านช่องทางออนไลน์ และสื่อโซเซียลมีเดียแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงควรมีหน่วยงานติดตามช่องทางนี้ เนื่องจากเป็นเบาะแสที่สามารถนำไปขยายผลสู่ต้นตอ จะได้ดำเนินการกวาดล้างหมูเถื่อนให้สิ้นซาก

Back to top button