4 จตุรเทพหุ้นลีสซิ่ง ราคาน่าสอยรับเต็มภาครัฐกระตุ้นศก.รากหญ้า

โบรกฯแนะ 4 หุ้นการเงิน-ลีสซิ่ง รับผลดีภาครัฐกระตุ้นเพิ่ม 9.3 หมื่นล้าน เม็ดเงินไหลเข้าระดับรากหญ้า-SMEs


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมศุลกากรประเมินยอดส่งออกไทยเดือน ม.ค. เบื้องต้นคาดว่ายังหดตัว 8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะติดลบ 6.5% นักวิเคราะห์จึงประเมินว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559 จะยังมาจากการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยที่ประชุม ครม. (23 ก.พ.) มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ได้แก่ มาตรการช่วยผู้ประสบภัยแล้งและเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเกษตรกร 3 โครงการ วงเงินรวม 9.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1) โครงการปรับเปลี่ยน การผลิตของเกษตรกรผ่านการให้สินเชื่อให้เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วม กู้กลุ่มไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% รวมวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท 2) เงินกู้ฉุกเฉิน ให้กับเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งรายละไม่เกิน 1.2 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน และ 3) โครงการเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ (1 ตำบล 1 SMEs) รายละไม่เกิน 7.2 หมื่นบาท วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 4% นาน 7 ปี

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากกรณีที่ภาครัฐฯเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและ SMEs คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ให้สินเชื่อในระดับท้องถิ่นในการซื้อสินค้าไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซด์ หรือ รถยนต์เพื่อการเกษตร โดยมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากกรณีดังกล่าวได้แก่

– บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASK ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภทและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ บริการด้านประกันภัย บริการจด/โอนทะเบียนและต่อภาษีรถยนต์ ขณะที่บริษัทย่อยดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อลีสซิ่งและสินเชื่อเช่าซึ้อเครื่องจักรและยานพาหนะ สินเชื่อแฟคตอริ่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และบริการด้านประกันภัย

ในฐานะที่ให้บริการสินเชื่อรถบรรทุก บริษัทยังได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ บวกกับแผนการขยายไปทำสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และสินเชื่อบุคคล เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ดีในระยะยาวหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ Valuation หุ้นนั้นยังโดดเด่น P/E ต่ำเพียง 8.6 เท่า และจ่ายปันผลปีละครั้งกว่า 7% (ราคาเป้าหมาย 23.2 บาท)

 

– บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

พอร์ตสินเชื่อหลักเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ (สัดส่วนราว 90% ของสินเชื่อรวม) ที่ชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 4/58 แล้วตามยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศที่หดตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ Spread ยังสามารถเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.47% จากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงเพียง 3.92%

ส่วนแนวโน้มปี 2559 ผลการดำเนินงานเติบโต 14% จากปีก่อน จากการเข้าสู่ตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่คาดว่าจะเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการบุกสินเชื่อในต่างประเทศทั้งกัมพูชาและลาวที่มีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ spread ยังมีแนวโน้มขาขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ในแง่ของ Valuation นั้น มี PBV ต่ำเพียง 1.1 เท่า และ div.yield ราว 4% (ราคาเป้าหมาย 12 บาท)

 

– บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อย ภายใต้เครื่องหมายบริการ “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” ซึ่งประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) สินเชื่อทะเบียนรถเก่าทุกประเภท บ้านและโฉนดที่ดิน 2) สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ และ 3) สินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน

พอร์ตสินเชื่อหลักคือสินเชื่อรถยนต์ (54%) รถจักรยานยนต์ (18%) บ้าน-ที่ดิน (14%) และ รถเชิงพาณิชย์ (12%) คาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อสุทธิ เป็นผลจากการทยอยสร้างรายได้ของสาขาที่ได้เปิดไปในเชิงรุกก่อนหน้านี้ ส่วนปี 2559 คาดกำไรสุทธิเติบโต 37.9% จากปีก่อนจากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยนต์

อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 มีแผนจะรุกเข้าสู่ธุรกิจขั้นต้น ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรกลการเกษตร และรถจักรยานยนต์ อย่างจริงจังในพม่า เนื่องจากยังมีศักยภาพเติบโตสูงมาก คู่แข่งน้อย ในส่วนของ Valuation นั้น เชื่อว่าราคาหุ้นยังมีโอกาสที่จะเดินหน้า outperform ตลาดฯ ได้ต่อเนื่องต่อไปตามกำไรที่ยังขึ้นทำ new high ได้ต่อเนื่อง (ราคาเป้าหมาย 65 บาท)

 

– บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT ผู้ให้บริการสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีข้อจำกัดในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยแบ่งบริการเป็น 4 ประเภท คือสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงินหรือลิสซิ่ง สินเชื่อสัญญาเช่าซื้อสินเชื่อการรับโอนสิทธิเรียกร้องหรือแฟคตอริ่ง และบริการเสริมอื่นๆ เช่นสินเชื่อเพื่อการจัดหาหนังสือค้ำประกันซอง สินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการและบริการจัดหาสินค้า

พอร์ตสินเชื่อหลักคือ แฟคเตอริ่ง 51% และลิสซิ่ง 28% โดยแรงขับเคลื่อนกำไรปี 2559 มาจากงานภาครัฐเป็นหลัก โดยคาดมูลหนี้แฟคตอริ่งรับซื้อในปี 2559 ถึง 7-8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2558 ซึ่งเป็นความได้เปรียบจากฐานที่ต่ำจึงมีศักยภาพเติบโตอีกมาก รวมถึงความต้องการใช้สินเชื่อ Bid bond ที่หลั่งไหลเข้ามามากเพื่อไป bid งานภาครัฐ ขณะที่ Valuation ระดับ PER 16.5 เท่า นับว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับ MAI ส่วน Dividend Yields ราว 3% (ราคาเป้าหมาย 15.15 บาท)

Back to top button