
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวันศุกร์
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค.60
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบ เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ผันผวน หลังจากมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2559 ของสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายและรอดูการพบปะกันของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษ และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ที่ทำเนียบขาว
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,093.78 จุด ลดลง 7.13 จุด หรือ -0.04% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,660.78 จุด เพิ่มขึ้น 5.60 จุด หรือ +0.10% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,294.69 จุด ลดลง 1.99 จุด หรือ -0.09%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดแดนลบ เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) จากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังยูบีเอส กรุ๊ป ของสวิตเซอร์แลนด์ รายงานผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.12 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 366.38 จุด หลังจากปิดที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 เดือนเมื่อวันก่อน ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวขึ้น 1.1%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสลดลง 27.26 จุด หรือ 0.56% ปิดที่ 4,839.98 จุด ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันลดลง 34.36 จุด หรือ 0.29% ปิดที่ 11,814.27 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นอังกฤษเพิ่มขึ้น 23.00 จุด หรือ 0.32% ปิดที่ 7,184.49 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้น เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) หลังหุ้นเทสโก้ทะยานขึ้นกว่า 9% รับข่าวบริษัทตกลงซื้อกลุ่มบริษัทค้าส่งอาหารอย่าง บุคเกอร์ กรุ๊ป ในวงเงิน 3.7 พันล้านปอนด์ เพื่อรุกธุรกิจจัดส่งอาหาร
ดัชนี FTSE 100 เพิ่มขึ้น 23.00 จุด หรือ 0.32% ปิดที่ 7,184.49 จุด ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ดัชนีลดลง 0.2%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบ เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) หลังจากมีรายงานว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในสหรัฐ และยังได้บดบังปัจจัยบวกจากความคืบหน้าในการปรับลดกำลังการผลิตของทั้งกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 61 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 53.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 72 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 55.52 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับลง เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำของนักลงทุนลดน้อยลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ลดลง 1.4 ดอลลาร์ หรือ 0.12% ปิดที่ 1,188.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 28.6 เซนต์ หรือ 1.70% ปิดที่ 17.136 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 1.6 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 983.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 14.15 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 738.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่า นโยบายต่างๆของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4 ได้สกัดแรงบวกของดอลลาร์ในระหว่างวัน
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 115.08 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 114.41 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9995 ฟรังค์ จากระดับ 0.9992 ฟรังค์
ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0696 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0695 ดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2555 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2600 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7551 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7546 ดอลลาร์สหรัฐ