จับตา! ปรับขึ้นภาษีน้ำมันการบิน ต้นทุนแอร์ไลนส์หรือผู้โดยสาร?

จับตา! คลังปรับขึ้นภาษีน้ำมันสายการบิน ดันต้นทุนแอร์ไลนส์พุ่ง 4 บาท/ลิตร ผลักภาระให้สายการบินหรือผู้โดยสาร?


จับตา! คลังปรับขึ้นภาษีน้ำมันสายการบิน ดันต้นทุนแอร์ไลนส์พุ่ง 4 บาท/ลิตร ผลักภาระให้สายการบินหรือผู้โดยสาร?

จากกรณีที่ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ให้ปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลเมื่อวันที่ 25 มกราคม นั้น ส่งผลให้น้ำมันเครื่องบินถูกเก็บภาษีที่ 4 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บที่ 20 สตางค์ต่อลิตร ส่วนน้ำมันหล่อลื่นถูกจัดเก็บลิตรละ 5 บาท จากเดิมไม่มีการจัดเก็บ

ซึ่งการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการสายการบินโดยตรง เนื่องจากต้นทุนค่าน้ำมันของแต่ละสายการบินจะปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันของสายการบินไทย เครือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ในช่วง 9 เดือนของปี 59 นั้นอยู่ที่ 3.34 หมื่นล้านบาท 

ด้านสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเครือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงงวด 9 เดือนของปี 59 อยู่ที่ 2.28 พันล้านบาท

ขณะที่สายการบินแอร์เอเชีย ในเครือบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 0.42 บาท

ด้านสายการบินนกแอร์ เครือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงงวด 9 เดือนของปี 59 อยู่ที่ 1.95 พันล้านบาท ต้นทุนน้ำมันต่อหน่วยอยู่ที่ 0.43 บาทต่อที่นั่ง-กิโลเมตร

โดย บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ (30 ม.ค.) ว่า ธุรกิจสายการบิน “Underweight” โดยการปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินจาก 0.2 บาท/ลิตร เป็น 4.0 บาท/ลิตรส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรธุรกิจการบินโดยตรง ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าหากปรับต้นทุนราคาน้ำมันแล้วต้นทุนของ THAI จะเพิ่มขึ้น 346 ล้านบาท จากคาดกำไร 7.50 พันล้าน ขณะที่ BA จะเพิ่มขึ้น 610 ล้านบาท จากคาดกำไร 7.50 พันล้าน และ AAV ต้นทุนเพิ่ม 1.10 พันล้านบาท จากกำไร 1.70 พันล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่ได้ประเมินการส่งผ่านต้นทุนน้ำมันไปที่ผู้บริโภค

 

ทั้งนี้เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันในครั้งนี้ จะเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายกลับมายังผู้บริโภคหรือไม่ เนื่องจากภาระต้นทุนที่สายการบินจะต้องแบกรับเพิ่มขึ้นหลังปรับใช้ภาษีดังกล่าวค่อนข้างสูง ขณะที่การแข่งขันของสายการบินในปัจจุบันนั้นสูงมาก การปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้อาจส่งผลให้สายการบินต้องปรับราคาตั๋วโดยสารในแต่ละที่นั่งเพิ่มสูงขึ้น หากเป็นเช่นนั้น ภาระจากการปรับขึ้นภาษีน้ำมันในครั้งนี้จะตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคโดยตรง

 

การบิน20173001

Back to top button