VTE มีลุ้นเทิร์นอะราวด์! หลังบุ๊กรายได้รับเหมาฯบิ๊กโปรเจค”โซล่าร์ฟาร์มมินบู”2.50พันลบ./ปี

VTE มีลุ้นเทิร์นอะราวด์! หลังบุ๊กรายได้ส่วนรับเหมาฯบิ๊กโปรเจคฯ “โซล่าร์ฟาร์มมินบู” 2,500 ลบ./ปี พร้อม COD เฟสแรกกลางปีหน้า พร้อมลุยธุรกิจพลังงานทดแทนต่อเนื่อง แย้มอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น 25MW


นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE เปิดเผยกับ ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสดงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ (Megawatt; MW) ณ เมืองมินบู ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ว่าขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 50 โดยในส่วนของสายส่งกระแสไฟฟ้าที่รองรับกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ ได้ดำเนินการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันบริษัทได้จัดส่งแผงโซลาร์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ระยะที่ 1 ถึงพื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในกระบวนการติดตั้งแผงโซลาร์ดังกล่าว (ขนาด 50 MW) โดยคาดว่าจะมีการติดตั้งและก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าในระยะแรกจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ช่วงกลางปี 2561 จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้าง ระยะที่ 2 ต่อทันที

นอกจากนี้ นายศุภศิษฏ์เปิดเผยอีกว่า ในฐานะที่ VTE เป็น ผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าวสัดส่วนร้อยละ 12 บริษัทยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูทั้งหมด โดยมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 4 ระยะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท และใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ปี ส่งผลให้คาดว่า VTE จะได้รับรายได้ภายหลังจากการก่อสร้าง 2.50 พันล้านบาทต่อปี โดยจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในปี 2561 เติบโตขึ้นกว่าปี 2560 จากการรับรู้รายได้ดังกล่าว

“การเข้าลงทุนในประเทศเมียนมาร์ในครั้งนี้เป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตในประเทศที่โอกาสทางธุรกิจนั้นยังมีอย่างมหาศาล ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศเมียนมาร์” นายศุภศิษฏ์ กล่าว

นอกจากนี้ VTE ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทาง บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เพื่อร่วมมือศึกษาลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เมืองฟุกุโอกะในประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย โดยเบื้องต้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีขนาดกำลังผลิต 25 เมกะวัตต์

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ พบว่าหากมีการรับรู้รายได้ส่วนของการก่อสร้างจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 220 เมกะวัตต์ จำนวน 2.50 พันล้านบาทต่อปี โดยจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2560 ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของบริษัทในอนาคต

 

อนึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของ 4 บริษัท โดยมีผู้ลงทุนหลักคือ บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE , บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF, บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC และ Planet Energy Holding PTE. Ltd. (PEH) ผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP

โดยได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 USD ต่อ kWh แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ โดย 3 ระยะแรกจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 50 MW และ 70 MW ในระยะสุดท้าย  พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ทั้งนี้เมื่อมีการผลิตไฟแล้วจะขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (“EPGE”), กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 1 ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 50 MW โดยมีจุดเชื่อมต่อระยะทางความยาว 1.3 ไมล์หรือประมาณ 2.09 กิโลเมตรขนาด 230 kV กับสายส่ง National Grid ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้ EPGE ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 217,256 ครัวเรือน สอดคล้องกับความปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.7 ต่อปี อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของเมียนมาร์มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ณ ปี 2558 คาดว่าการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อให้การเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนที่อัตราการเติบโตดังกล่าว จะทำให้การเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 87 ภายในปี 2573  ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมาร์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้วจำนวน 5,134 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ถึง 2564 อีก 996 MW

 

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ วันนี้ (4 ธ.ค.) โครงการโซลาร์ฟาร์ม ของ บริษัทร่วมทุน ECF (ถือ 20%), VTE (ถือ 12%), QTC (ถือ 15%) ที่พม่า กำลังการผลิตรวม 220MW เริ่มมีความชัดเจน คาดเริ่มลงมือก่อสร้างเฟสที่ 1 กำลังการผลิต 50MW ภายในสิ้นปีนี้ (สถาบันการเงินเริ่มอนุมัติเงินกู้แล้ว) และจะทยอย COD เฟสที่เหลือภายในปี 2564 แนะนำ “เก็งกำไร” ECF แนวรับ 6.1 บาท แนวต้าน 6.50 – 6.75 บาท (Stop loss 6 บาท)

 

Back to top button