TRUE ยืดชำระไลเซนส์ 900MHz-แทงกั๊กคลื่น 700 ฟากกสทช.ระบุเงื่อนไขบังคับต้องเอา!

TRUE ยืดชำระไลเซนส์ 900MHz-แทงกั๊กคลื่น 700 ฟากกสทช.ระบุเงื่อนไขบังคับต้องเอา!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม (“คำสั่ง คสช. ที่ 4/2562”) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 890-915 MHz/935-960 MHz (“คลื่นความถี่ย่าน 900MHz”) ที่ประสงค์ขอแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (“สำนักงาน กสทช.”) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

ล่าสุด บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า บริษัทย่อยของบริษัทฯ คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (“TUC”) ในฐานะผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900MHz ได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงาน กสทช. ถึงความประสงค์ในการแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ต้องชำระออกเป็นสิบงวด ปีละงวด งวดละเท่าๆ กัน ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 แล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของการจะขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700MHz นั้น TUC มีความจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดของหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700MHz โดย TUC จะได้พิจารณาและดำเนินการตามที่เห็นว่าเหมาะสมต่อไป ภายหลังจากที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขของหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยภายหลังจากคสช.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ว่า หากมีผู้ประกอบการรายใดประสงค์แบ่งชำระเงินค่าคลื่นความถี่ 900MHz โดยแบ่งเป็น 10 งวด จะต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่น 700MHz ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ และจะไม่ได้รับสิทธิในการผ่อนชำระคลื่น 900MHz หรือจะต้องกลับไปจ่ายแบบเดิมคือ 4 งวด

โดยจัดสรรคลื่น 700MHz ครั้งนี้ประเมินเบื้องต้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25,000 -27,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 15 MHz (รวม 3 ค่าย เป็นเงิน 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งผู้ประกอบการจะเริ่มชำระในวันที่ 1 ต.ค. 2563 จากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต่อไป

Back to top button