“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! ตามดาวโจนส์ หวนกังวลสถานการณ์ยูเครน-เฟดเร่งขึ้นดบ.

“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! ตามดาวโจนส์ปิดร่วงกว่า 500 จุด กลับมากังวลสถานการณ์ยูเครนและเฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน พุ่งขึ้น 5.4% สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดแดนลบตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) เนื่องจากแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.จากไฉซิน

โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,821.43 จุด ลดลง 197.32 จุด หรือ -0.71%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,693.10 จุด ลดลง 303.75 จุด หรือ -1.38% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,234.67 จุด ลดลง 17.53 จุด หรือ -0.54%

สำหรับนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการที่ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซียกรณีใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน ซึ่งส่งผลให้รัสเซียใช้มาตรการตอบโต้ โดยล่าสุดปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ลงนามในกฤษฎีกาซึ่งระบุว่า ต่างชาติที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และสัญญาการซื้อก๊าซจะถูกระงับ หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2526

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานไปแล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1/2565 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น อยู่ที่ระดับ +14 ลดลงจากระดับ +17 ในไตรมาส 4/2564 แต่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ที่ +11

Back to top button