ฉบับแรก! “ลุงป้อม” ลงนาม “รักษาการนายก” ออกระเบียบสลน. ดึงต่างชาติฟื้นฟูเศรษฐกิจ

"ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รักษาการนายก ประเดิมลงนามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา “ราชกิจจาฯ” เผยแพร่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2565

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า  ระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับดังกล่าว ลงนามโดย “พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ”  รองนายกฯ ในฐานะปฏิบัติราชการ รักษาการนายกฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565  ซึ่งถือเป็นระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับแรกที่ “พล.อ.ประวิตร” รักษาการนายกฯลงนามเผยแพร่ลงใน”ราชกิจจาฯ”

โดยปกติ “ระเบียบสำนักนายกฯ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้ลงนามในฐานะนายกฯ แต่เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ”เสียงข้างมากมีคำสั่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์”  หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยศาลรธน.ปม “นายกฯ 8 ปี” จึงมอบหมายให้ “พล.อ.ประวิตร” ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ

สำหรับเนื้อหาใน “ระเบียบสำนักนายกฯ” ฉบับนี้ ระบุว่า โดยที่การดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้เข้ามาสู่ประเทศไทยในรูปแบบผู้พำนักระยะยาว (long-term resident)

เป็นมาตรการสำคัญที่จะมีผล เป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างและทุกระดับ แต่การที่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง จะเข้ามาพำนักในประเทศไทยได้นั้น จะต้องมีการติดต่อและขออนุญาตตามกฎหมายต่างๆ จากหน่วยงาน ของรัฐจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การติดต่อและขออนุญาตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีกลไกอำนวยการและขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2565”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “ชาวต่างชาติ” หมายความว่า คนต่างด้าวที่ประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราประเภท คนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa : LTR Visa) ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร

ตัวแทนที่ได้รับการรับรอง” หมายความว่า ผู้ให้บริการที่ได้รับการรับรองจาก คสดช. เพื่อให้บริการเป็นตัวแทนชาวต่างชาติที่ยื่นขอรับการตรวจลงตราหรือได้รับการตรวจลงตราประเภท คนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาตหรือดำเนินการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด หรือดำเนินการตามที่ คสดช. กำหนด

ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมกำรสนับสนุนมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า “คสดช.” ประกอบด้วย

(๑) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชำติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, การลงทุน, การท่องเที่ยว, หรือเทคโนโลยี จำนวนไม่เกินสี่คน ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุนคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ ๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือในกรณีที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระ อยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมี การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ การประชุม คสดช. ให้เป็นไปตามที่ คสดช. กำหนด

ข้อ ๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) นายกรัฐมนตรีให้ออก

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ข้อ ๗ ให้ คสดช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และผลักดันนโยบายและมาตรการการดึงดูดชาวต่างชำติ ที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long -term resident )

(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรับรองตัวแทน รวมทั้งให้การรับรองตัวแทน

(๓) จัดทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐเพื่อกำหนดกระบวนงาน วิธีการ มาตรฐำน รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการในกรณีที่ชาวต่างชาติหรือตัวแทนที่ได้รับการรับรองติดต่อ หรือยื่นขออนุญาตแทนชาวต่างชาติกับหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน และไม่เป็นภาระเกินสมควร

(๔) พิจารณาและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐ ตัวแทนที่ได้รับ การรับรอง และชาวต่างชาติในการดำเนินการตามระเบียบนี้

(๕) รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การผลักดันนโยบายและมาตรการการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของ คสดช. ได้ ตามความจำเป็น

(๗) เสนอแนะให้มี ยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

(๘) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของระเบียบนี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๘ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ของ คสดช. สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ที่จำเป็นซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจาก งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ข้อ ๙ ในวาระเริ่มแรก ให้ คสดช. ประกอบด้วยกรรมการตามข้อ ๔ (๑) และข้อ ๔ (๒) และให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่ คสดช. ตามระเบียบ นี้ไปพลางก่อน

ข้อ ๑๐ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้

Back to top button