
วันกรรมกรสากล
1 พฤษภาคม หรือที่เรียกว่าเมย์เดย์ (เมื่อวานนี้) เป็นวันหยุดประจำปีของบริษัทและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายซึ่งรู้จักกันในชื่อวันแรงงานแห่งชาติ
1 พฤษภาคม หรือที่เรียกว่าเมย์เดย์ (เมื่อวานนี้) เป็นวันหยุดประจำปีของบริษัทและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายซึ่งรู้จักกันในชื่อวันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดดังกล่าวเป็นวันสำคัญที่เฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก เป็นไปเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์จราจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot) ในชิคาโก้สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1886 ซึ่งมีแรงงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นจำนวนไม่น้อยนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เริ่มจากการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน ณ บริษัท แมคคอมิกซ์ฮาเวสติงแมชชีน คอมพานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ระดับชาติเพื่อเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงทำงานที่วันละ 8 ชั่วโมงรวมถึงการเรียกร้องสิทธิแรงงานด้านอื่น ๆ ซึ่งนำมาสู่การชุมนุมที่จตุรัสฮาร์มาร์เก็ตนับเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกกล่าวถึงในฐานะของการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานครั้งสำคัญ
ในปี 1889 สภาสังคมนิยมมาร์กซิสได้ประชุมกันที่ปารีสและก่อตั้ง สากลที่สอง (Second International) ในฐานะผู้สืบทอดต่อจากสมาคมกรรมกรสากล จุดมุ่งหมายหลักของข้อตกลงปารีสคือนายจ้างยินยอมให้ตั้งสหภาพแรงงานได้ โดยถือว่าสหภาพแรงงานคือตัวแทนของพนักงานทั้งหมดเพื่อเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มและต่อมาขยายเป็นการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น และท้ายสุดคือการปรับปรุงให้เกิดความยุติธรรมในการจ้างงาน
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเริ่มมีการบริหารจัดการแรงงานเพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกมีความเห็นตรงกันกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกแรงงานไทย
วันแรงงานมีความสำคัญอย่างมากในการยืนยันความสำคัญของแรงงานในสังคมช่วยสร้างความตระหนักให้กับผู้คนว่าการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว ผู้ใช้แรงงานที่เรียกง่าย ๆ ว่ากรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานที่กินเงินเดือนของบริษัท ได้รับรู้กันว่าเป็นหนึ่งในวันหยุดประจำปีหรือหากไม่หยุดจะได้ค่าแรงเป็นสองเท่าของวันปกติ
บางบริษัทที่ก้าวหน้าได้เสนอหุ้น ให้พนักงานเป็นเจ้าของร่วม เรียกว่าหุ้น ESOP และบางบริษัทก้าวไปไกลกว่านั้น เสนอเงื่อนไขให้ตัวแทนสหภาพบริหารเป็นบอร์ดบริหารร่วมด้วย
ปัจจุบันนี้บางบริษัทให้สิทธิ์พนักงานซื้อกองทุนรวมซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มสวัสดิการให้พนักงานโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามความสมัครใจของพนักงานโดยบริษัทจ่ายเงินสมทบให้พนักงานจำนวนเท่ากับที่พนักงานจ่าย ซึ่งต้องไม่เกิน 3-5% ของเงินเดือน เงินที่สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกบริหารโดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม พนักงานและบริษัทไม่ได้บริหารเอง ความสัมพันธ์ของบริษัทกับพนักงานเป็นไปในลักษณะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือว่าเป็นการจัดความสัมพันธ์แรงงานเชิงรุกเพื่อลดความสัมพันธ์เชิงลบ ซึ่งมีผลทำให้ความสำคัญของสหภาพแรงงานลดลง โดยที่พนักงานสามารถสื่อสารโดยตรงกับบริษัทได้
วิษณุ โชลิตกุล