
สินเชื่อหดตัว-NIM ยังกดดันกลุ่มแบงก์
บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จำนวน 11 บริษัท รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิรวม 6.83 หมื่นล้านบาท
เส้นทางนักลงทุน
บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จำนวน 11 บริษัท รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิรวม 6.83 หมื่นล้านบาท เติบโต 7% จากงวดเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่ลดลง 11% จากไตรมาสก่อน (QoQ) เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากเงินให้สินเชื่อชะลอตัวจากการชำระคืนหนี้ การเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ และการลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวได้รับการชดเชยด้วยรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากกำไรจากเงินลงทุน การควบคุมต้นทุนในการดำเนินงาน การตั้งสำรองหนี้สูญหรือขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่รายงานผลกำไรโดดเด่นดีขึ้นทั้ง YoY, QoQ ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT), บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และบมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ขณะที่บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และบมจ.เกียรตินาคินภัทร (KKP) รายงานผลกำไรลดลงทั้ง YoY และ QoQ
อย่างไรก็ดี แนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปีนี้ของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มโดดเด่น เช่น BBL ถูกคาดการณ์จากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ว่าอาจจะลดลงทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากกำไรจากเงินลงทุนต่ำลงจากฐานสูงในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่ง BBL มีผลกำไร 12,617.781 ล้านบาท
รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) คาดจะลดลงต่อ จากการรับรู้ผลกระทบของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเต็มไตรมาส บวกกับรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยจาก Subordinated Note ตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาพรวมทั้งปี 2568 นี้ คาด BBL จะมีกำไรสุทธิ 45,987 ล้านบาท โต 1.7% YoY
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อีก 1 แห่ง คือ KBANK บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ มองเป้าหมายทางการเงินปีนี้ท้าทายมาก แม้ผู้บริหารยังคงเป้าหมายทางการเงินแต่เห็นว่ามาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลให้ NIM ลดลง และ credit cost เพิ่มขึ้น
ปรับลดประมาณการกำไรลง 3-4% ในปี 2568-2569 เพื่อสะท้อน NIM และการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลงตามการลดดอกเบี้ยนโยบายและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยคาดว่าสินเชื่อจะหดตัว 3% YoY จากการที่ KBANK ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อมากกว่าการขยายตัว
ผู้บริหารยังตอกย้ำเป้าหมาย ROE ที่ 10% ภายในปี 2569 เนื่องจากโอกาสการเติบโตของสินเชื่อที่จำกัด เชื่อว่า KBANK จะเน้นเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ลด credit cost และบริหารจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกำลังรอความชัดเจนของกฎระเบียบเกี่ยวกับระยะเวลาการลดทุนก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้นคืน หรือจะจ่ายปันผลพิเศษเพื่อเพิ่ม ROE
ส่วน KTB นั้น ถูกปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิในปี 2568-2569 เล็กน้อย 2-3% หลังจาก NIM อ่อนแอลงกว่าคาด ทำให้การเติบโตจะลดลงเหลือ 1-2% เนื่องจากสำรองหนี้ลดลง และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทั้งนี้ทุก 0.10% ของ credit cost ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้กำไรสุทธิปรับลดลงจากประมาณการราว 6%
ระยะข้างหน้าของ KTB นั้น NIM มีแรงกดดัน แต่ทิศทาง NON-NII ที่ดีขึ้นจะช่วยลดแรงปะทะ โดยภายใต้โอกาสในการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะสร้างแรงกดดันต่อ NIM ในช่วงที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านของวงจรดอกเบี้ยขาลง จะสร้างผลบวกต่อ NON-NII ในขณะที่การควบคุมค่าใช้จ่าย OPEX ให้สอดรับกับรายได้ทําได้ค่อนข้างดี และระดับความเพียงพอของสํารองช่วยให้ทิศทาง CREDIT COST ในอนาคตอยู่ในการบริหารจัดการ โดยประมาณการกําไรสุทธิปี 2568 ไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท โต 2% YOY
ขณะที่ SCB โบรกเกอร์ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2568 จะลดลง YoY และ QoQ เนื่องจาก NIM ที่ลดลงและกำไรจากการประเมินมูลค่าทางการตลาดที่ลดลงจากเครื่องมือทางการเงิน
เส้นทางข้างหน้าของ SCB มีแรงกดดันจาก NIM ตามวงจรดอกเบี้ยและคุณภาพสินทรัพย์ และมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากกลุ่มที่อิงกับภาคส่งออก ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเห็นความเสี่ยงต่อเนื่องของสินเชื่อบ้าน และ AUTOX แม้งวดล่าสุดดําเนินนโยบายสินเชื่อเข้มงวดในกลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้าน NPL แต่ยังต้องจับตาต่อ หลังขยายตัวเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมา
แนวโน้มข้างหน้าแม้ CREDIT COST ปีก่อนมีฐานสูงจาก CARDX แต่มองว่าทิศทาง CREDIT COST จะลดลงไม่ได้มากเมื่อเทียบ YOY จึงถูกปรับลดกําไรสุทธิปี 2568-2569 เฉลี่ย 7% หลัก ๆ มาจากการปรับสมมติฐาน NIM มาที่ 3.6% จากเดิม 3.8% ทําให้กําไรสุทธิปี 2568 ทรงตัว YOY ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท และปี 2569 เท่ากับ 4.5 หมื่นล้านบาท โต 2% YOY
มีการประเมินว่าผลการดำเนินงานภาพรวมของกลุ่มธนาคารพาณิช์จะได้รับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน จากแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ และภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจะเป็นปัจจัยลบกดดัน
โอกาสการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่จะผลักดันให้ถึงกรอบเป้าหมายด้านบนของแต่ละธนาคาร ดู ๆ แล้วน่าจะมีจำกัด ขณะที่สัดส่วน NPL และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน