
“จีน” ผ่อนเกม…วางหมาก หรือ จนมุม!?
การกลับมาของ “ทรัมป์” พร้อมสงครามภาษีรอบใหม่ ทำให้โลกจับตามองว่า จีนจะตอบโต้อย่างไร แต่แทนที่จะเลือกใช้หมัดสวนตลอด จีนกลับ “ผ่อนแรง” อย่างมีกลยุทธ์
สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลก สหรัฐอเมริกาและจีน ยืดเยื้อหลายปี ก่อนจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในวาระที่ 2 กับการก้าวขึ้นตำแหน่ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกับนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” (America First) และการขึ้นภาษีศุลกากรชุดใหม่ต่อประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยมี “จีน” เป็นเป้าหมายหลัก เขย่าตลาดโลกและกระตุ้นความวิตกกังวลในภาคธุรกิจ ขณะที่ “จีน” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตอบโต้ด้วยมาตรการแบบ “ตาต่อตา” จนนำไปสู่ภาวะ “สงครามตัวเลข” ที่กระทบการค้าและการลงทุนทั่วโลก
สงครามที่ดูเหมือนฝุ่นตลบ ก็เริ่มจางลง!?
แต่แล้ว “สงครามการค้า” ที่มี 2 ตัวละครหลักอย่าง “สหรัฐ” และ “จีน” ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกจนฝุ่นตลบก็เริ่มจางหาย เมื่อสงครามครั้งนี้เริ่มส่งผลต่อ “ระเบียงการค้า” โดยกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ว่า จีนกำลังประเมินสถานการณ์ หลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ติดต่อมาผ่านฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อขอเจรจาเรื่องภาษีศุลกากร
ในวันเดียวกัน ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดที่ระดับ 22,504.68 จุด เพิ่มขึ้น 385.27 จุด หรือ +1.74% สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังจีนส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์เช่นกัน เพราะในวันดังกล่าว SET Index ภาคเช้าทะลุแนวต้าน 1,200 จุด สะท้อนความคาดหวังว่าความตึงเครียดทางการค้าอาจคลี่คลายลงในระยะอันใกล้
พร้อมกันนี้ จีนยังทยอย “ยกเว้นภาษี” แบบเงียบ ๆ ให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ เช่น อีเทน (Ethane), เซมิคอนดักเตอร์บางชนิด และยาบางประเภท ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ลดแรงเสียดทานในเวทีโลกโดยไม่เสียหน้า
จีนอ่อนลงจริง หรือแค่เดินเกมใหม่?
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่า ไม่ใช่การอ่อนข้อของจีน แต่เป็นการรักษาระบบการค้าเสรีของโลกเอาไว้
“จีนสนับสนุนการค้าเสรีภายใต้ระบบพหุภาคี (กลุ่มประเทศ) การตอบโต้ภาษีต่อกันในระดับ 125% ต่อ 145% จะทำให้การค้า การผลิต และเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก การเจรจาเพื่อผ่อนคลายความขัดแย้งและความตึงเครียดจึงเป็นแนวโน้มในเชิงบวก”
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่า แรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนนั้น มีน้อยกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยระบุว่า “จีนยังมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) อีกมาก ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับอัตราขยายตัวที่ลดลง และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น”
ท่ามกลางศึกใหญ่ระหว่างสองขั้วอำนาจ การเคลื่อนไหวของประเทศเล็ก อย่าง “ไทย” จึงน่าสนใจไม่น้อย
สำหรับการเตรียมพร้อมของไทยในศึกการค้าครั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะกล่าวย้ำในรายการ “โอกาสไทย กับ นายกแพทองธาร” ตอน “สร้างโอกาสในวิกฤต” เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ถึงความคืบหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังเลื่อนกำหนดการเดินทางของ “ทีมไทยแลนด์” ที่นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมาว่า
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การเจรจาแบบไม่เป็นทางการมีต่อเนื่องไม่เคยขาดหาย ขอให้ประชาชนสบายใจว่าเรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญมาก เตรียมพร้อมอย่างหนักแน่น จนถึงวันที่ได้เจรจาต่อรองอย่างเป็นทางการ
“จะเรียกว่า “ดีลลับ” ก็ได้… ดีลลับนี่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรทั้งสิ้นนะคะ เป็นการมีมารยาทให้กับทุก ๆ ประเทศด้วยซ้ำ ให้เกียรติกันทุก ๆ ประเทศ… ทุกประเทศเขาก็ดีลแบบนี้ ไม่มีใครออกมาพูดเสียงดังเกินไป เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่าความรวดเร็วไม่ใช่ตัวกำหนดว่าจะต้องรวดเร็ว แต่มันต้องแม่นยำในการต่อรอง” นายกรัฐมนตรี ระบุตอนหนึ่ง
ขณะที่มุมมองของ รศ.ดร.อนุสรณ์ สะท้อนว่า ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการ “รักษาสมดุล” ระหว่างความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจ โดยยึดหลักเป็นกลางและเป็นอิสระอย่างมียุทธศาสตร์ พร้อมทั้งเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาการสวมสิทธิของกลุ่มทุนจีนต่อสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
หากสงครามการค้าผ่อนคลาย “ไทย” อาจได้รับแรงบวกในภาคการส่งออก โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาง และอาหารแปรรูป ที่เคยได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า
ตลาดการเงินอาจได้แรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าหนุน “หุ้นไทย” โดยเฉพาะกลุ่ม Global Play ขณะที่ “เงินบาท” อาจแข็งค่าระยะสั้น ซึ่งแม้จะเป็นผลดีต่อการนำเข้า แต่ก็กดดันภาคส่งออก หากค่าเงินแข็งเร็วเกินไป
สุดท้ายแล้ว แม้ไทยจะไม่ใช่คู่สงครามโดยตรง แต่การเลือกข้าง หรือการรักษาสมดุลอย่างมียุทธศาสตร์จะเป็นบทพิสูจน์ระยะยาวของไทย บนเวทีโลกที่เปลี่ยนเกมอยู่ตลอดเวลา