
ไชน่าโกลเด้นวีคสะพัด 9 แสนล้าน
วันหยุดยาวแห่งชาติของจีน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน” มีอัตราเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
วันหยุดยาวแห่งชาติของจีน (Golden Week) ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน” มีอัตราเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 180,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 900,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขนี้ยังถือว่าต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดโควิด 19 ขณะที่กิจกรรมการบริการเดือนเม.ย. 68 มีการเติบโตอ่อนแอสุดรอบ 7 เดือน
โดยสัปดาห์หยุดวันแรงงานช่วงต้นเดือนพ.ค. 68 เป็นหนึ่งของช่วงวันหยุดยาวสุดในประเทศ และกำลังถูกจับตามองในฐานะเครื่องวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีน ขณะที่อัตราการบริโภคของประเทศ กำลังถูกผลกระทบจากการเติบโตที่เชื่องช้ากว่าที่ตั้งความหวังกันไว้
“จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และสงครามการค้ากับสหรัฐฯ”
กระทรวงการท่องเที่ยวของจีน รายงานว่า การท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดที่ผ่านมา อยู่ที่ 314 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่วนการทำธุรกรรมผ่านแอปชำระเงินผ่าน Weixin Pay) เพิ่มขึ้น 10% โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในภัตตาคาร ขณะที่จำนวนผู้เดินทางเข้าออกประเทศเพิ่มขึ้น 28.7% มาอยู่ที่ 10.9 ล้านคน โดยมีชาวต่างชาติ 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43.1%
จากการประเมินโดยสำนักงานข่าวรอยเตอร์อ้างอิงข้อมูลของทางการ พบว่า นักท่องเที่ยวหนึ่งคนใช้จ่ายช่วงวันหยุดห้าวันที่ผ่านมา ประมาณ 574.1 หยวน (ประมาณ 2,870 บาท) เพิ่มขึ้น 1.5% แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่ที่ 603.4 หยวน (ประมาณ 3,000 บาท)
“ภาคการบริการจีน มีอัตราการเติบโตช้าลง เนื่องจากความไม่แน่นอนจากการเก็บภาษีของสหรัฐฯ”
ตัวเลขจากดัชนีไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (The Caixin/S&P Global) บ่งชี้ให้เห็นว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ปรับลดลงจาก 51.9 ช่วงเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 50.7 แม้อยู่ในระดับที่มีการขยายตัว แต่ถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2567
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการวัดตัวเลขของจีน ซึ่งตามการสำรวจของทางการพบว่า ดัชนี PMI ปรับลดลงจาก 50.3 เมื่อเดือนที่ผ่านมา มาที่ 50.1
สำหรับ The Caixin PMI เป็นดัชนีที่สามารถวัดแนวโน้มได้ดี โดยเฉพาะกับเหล่าบริษัทขนาดเล็กและบริษัทที่เน้นการส่งออก นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Capital Economics ประเมินว่าการปรับตัวลงของดัชนี เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่านอกจากอุตสาหกรรมการผลิต, สงครามการค้ามีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน
ขณะนี้ภาคการบริการต่าง ๆ พยายามรับมือกับผลกระทบจากภาษี ด้วยการปรับลดจำนวนพนักงานลงติดต่อกันตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อลดอัตราค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ปริมาณงานค้างเพิ่มขึ้น
นั่นทำให้มีการลดราคาสินค้า เพื่อดึงดูดลูกค้า แม้ต้องแลกมาด้วยอัตราค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จาก ING (ฮ่องกง) ระบุว่า รัฐบาลจีนจำกัดนโยบายที่ใช้กระตุ้นการบริโภคภาคการบริการ จึงออกมาแนะนำวิธีเพิ่มความต้องการในประเทศ ด้วยการใช้คูปองเพื่อแก้ปัญหาช่วงระยะสั้นและการปรับปรุงคุณภาพ ความพร้อม และขอบเขตการบริการระยะยาว ถือเป็นกุญแจสำคัญ พร้อมเสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากขึ้น..!!