ครม. ไฟเขียว “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” ลงทุนงวดแรก 5 พันลบ. ภายใน 1-2 เดือนนี้

คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” ทางเลือกใหม่ในการออมและลงทุนของประชาชน เปิดช่องทางระดมทุนรูปแบบใหม่ให้กับรัฐบาล วงเงินเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท คาดเริ่มเสนอขายครั้งแรกใน 1-2 เดือนนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 พ.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” (Thailand Digital Token) ว่า เป็นทางเลือกใหม่ในการออมและการลงทุนให้กับประชาชน และเพิ่มช่องทางการระดมทุนของรัฐบาล กำหนดวงเงินเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน จะเพิ่มการเข้าถึงการลงทุนของประชาชนมากขึ้น ในสัดส่วนที่เหมาะสม รายย่อยสามารถถือครองได้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนทั่วไป ซึ่งเครื่องมือนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ใช่การพิมพ์เงินใหม่ และไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแน่นอนพร้อมยืนยันว่า ได้รับข้อสังเกตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาแล้ว และไม่ใช่ระบบ Digital Payment หรือตั๋วชำระสินค้า

“ข้อดีคือ ประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนน้อยในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่หลักร้อยบาทเป็นต้นไป ทำให้รัฐบาลขยายฐานการลงทุนได้ เนื่องจากผู้ที่มีความสามารถในการลงทุนน้อยจะเข้าถึงรูปแบบการลงทุนดังกล่าวได้ และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรม Digital Economy ด้วย ซึ่งรูปแบบการลงทุนเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง หากในอนาคตมีเครื่องมือการระดมทุน จะสามารถเข้าไปเทรดใน Digital Exchange ได้ และได้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอ” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ระบุ

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปกติแล้วสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีหน้าที่ในการออกตราสารหนี้, พันธบัตรรัฐบาล ในการระดมเงินส่วนที่ขาดดุล และออกพันธบัตรให้สถาบันและประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางที่ดำเนินการมาอยู่แล้ว จึงคิดว่าสามารถที่จะทำช่องทางใหม่เพิ่มทางเลือกในการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มเติม จึงเป็นที่มาในการออก “ไทยแลนด์ ดิจิทัล โทเคน”

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ครม. ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะสามารถเสนอขายได้ภายใน 1-2 เดือนจากนี้

“การพัฒนา G-Token ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงการคลังในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการระดมทุน ความโปร่งใส และความคล่องตัว พร้อมสร้างโอกาสการลงทุนให้ประชาชนเข้าถึงได้ทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion)” นายพชร กล่าว

โดยคุณลักษณะของ G-Token เป็นแหล่งลงทุนศักยภาพสูงให้กับประชาชน มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งกำหนดอัตราผลตอบแทนล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายและประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนบริหารการเงินและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สบน. มีแผนเสนอขาย G-Token อย่างสม่ำเสมอ โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดวิธีการจำหน่ายที่เหมาะสม คำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยง และสภาวะตลาด พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างชัดเจนให้ประชาชนรับทราบในโอกาสแรก

Back to top button