CGSI ลดน้ำหนักลงทุนหุ้น “พลังงาน” รับผลกระทบ “กพช.” ปรับโครงสร้าง Pool Gas

CGSI แนะลดน้ำหนักลงทุนในกลุ่มพลังงานไทย หลัง “กพช.” มีมติปรับโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติใหม่ กระทบกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยบทวิเคราะห์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีมติสำคัญในการปรับโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ที่ประกอบด้วยก๊าซจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ก๊าซจากอ่าวไทย ก๊าซจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้า โดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถูกจัดให้เป็นสินทรัพย์ภายใต้การกำกับดูแลในลักษณะเดียวกับระบบท่อส่งก๊าซ และผลตอบแทนจากการลงทุนต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กพช.กำหนดให้ใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุด (189 บาทต่อล้านบีทียู ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568) เป็นต้นทุนของโรงแยกก๊าซ แทนโครงสร้างเดิมแบบ single pool gas ที่ใช้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากทั้งสามแหล่ง ซึ่งอยู่ที่ 315 บาทต่อล้านบีทียูในช่วงเวลาเดียวกัน โดย PTT จะต้องนำกำไรบางส่วนจากธุรกิจโรงแยกก๊าซ โดยเฉพาะจากการขายอีเทนและโพรเพนให้กับ PTTGC มาช่วยอุดหนุนราคาก๊าซสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนและเปิดทางให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าในอนาคต

ในด้านภาคไฟฟ้า มีการกำหนดลำดับการใช้ก๊าซจากแหล่งราคาถูกที่สุดก่อน ได้แก่ อ่าวไทย ตามด้วยก๊าซจากเมียนมา และ LNG นำเข้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากต้องอิงต้นทุนเฉพาะจาก LNG ซึ่งมีราคาสูงสุดที่ 484 บาทต่อล้านบีทียูในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต่างจากโครงสร้างเดิมที่ใช้ต้นทุนเฉลี่ยจากหลายแหล่ง

CGSI ระบุเพิ่มเติมว่า ยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่าธุรกิจ GSP ของ PTT จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากขึ้นอยู่กับสัดส่วนที่ต้องนำไปอุดหนุนราคาก๊าซ อย่างไรก็ตาม บริษัท PTTGC ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากโครงสร้างใหม่นี้ เพราะได้ปรับสัญญาซื้ออีเทนกับ PTT ตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งเพิ่มต้นทุนเพียงเล็กน้อยราว 3%

นอกจากนี้ ที่ประชุมกพช.ยังมีมติชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผ่านการประมูลในรอบที่สอง ส่งผลให้โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง มีกำลังการผลิตรวม 1.48 กิกะวัตต์ อาจเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งมีโครงการในสัดส่วนตามส่วนได้ส่วนเสียรวม 97.19 เมกะวัตต์ อาจล่าช้าในการดำเนินการ

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ CGSI แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงานของไทย (Underweight) เนื่องจากอุปสงค์ด้านพลังงานมีแนวโน้มลดลงจากภาวะตึงเครียดทางการค้า และความเสี่ยงด้านนโยบายที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาเพื่อควบคุมภาระค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจหนุนราคาน้ำมันในระยะถัดไปคือความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น

Back to top button