
หุ้นยุโรปปิดลบทุกดัชนี! นลท.เทขายทำกำไร – ผลประกอบการ “บจ.” กดดันตลาด
ดัชนี STOXX 600 ร่วงครั้งแรกในรอบ 5 วัน หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์-อุตสาหกรรมร่วงแรง ขณะ Burberry สวนกระแส พุ่ง 17% รับกำไรดีกว่าคาด
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันพุธ (14 พ.ค.68) หลังนักลงทุนเทขายทำกำไรตามแรงจูงใจจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
- ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 543.88 จุด ลดลง 1.29 จุด หรือ 0.24%
- ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปิดที่ 7,836.79 จุด ลดลง 37.04 จุด หรือ 0.47%
- ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนี ปิดที่ 23,527.01 จุด ลดลง 111.55 จุด หรือ 0.47%
- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นอังกฤษ ปิดที่ 8,585.01 จุด ลดลง 17.91 จุด หรือ 0.21%
การอ่อนตัวของดัชนี STOXX 600 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ตลาดปรับขึ้นต่อเนื่องช่วง 9 – 13 พ.ค.68 หลังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ และการพักรบภาษี 90 วันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
แม้ Goldman Sachs จะออกมาปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนี STOXX 600 ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จาก 520 จุด เป็น 570 จุด สะท้อนมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจยุโรปในระยะกลาง แต่แรงขายในหุ้นกลุ่มใหญ่ยังฉุดภาพรวมตลาด
กลุ่มเฮลท์แคร์ ร่วงแรงสุดในบรรดาหมวดหลัก ดิ่งเฉลี่ย 1.5% นำโดยหุ้น Alcon ที่ร่วงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือน มีนาคม พ.ศ. 2563 หลังผลประกอบการไตรมาสล่าสุดต่ำกว่าคาด พร้อมปรับลดแนวโน้มกำไรปีนี้ จากผลกระทบของภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ กลุ่มอุตสาหกรรม ถูกแรงขายถล่มเช่นกัน โดย Alstom ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ของยุโรป ร่วงกว่า 17% หลังคาดว่าผลประกอบการปีนี้จะต่ำกว่าคาด
หุ้น TUI บริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ ร่วงถึง 11% หลังรายงานว่าการจองทริปช่วงฤดูร้อนลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนขณะที่ Imperial Brands ผู้ผลิตบุหรี่ร่วง 7.3% จากข่าว ซีอีโอ สเตฟาน บอมฮาร์ด เตรียมเกษียณอายุ
แต่ท่ามกลางแรงขายในหลายกลุ่ม หุ้น Burberry แบรนด์แฟชั่นหรูของอังกฤษ กลับพุ่งขึ้นกว่า 17% หลังประกาศผลกำไรทั้งปีสูงกว่าคาด พร้อมแผนปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการลดพนักงานราว 1,700 คน ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมค้าปลีกหรู
ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงติดตามผลประกอบการไตรมาสแรกของ บริษัทจำกัด (บจ.) ในยุโรปอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะเดียวกันยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ตัวเลข GDP และการจ้างงานยูโรโซน ซึ่งอาจส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อไป