โบรกชี้เป้า 3 แบงก์! จ่อรับคลังดัน “ซอฟต์โลน” 1 แสนล้าน เยียวยาผู้ส่งออก-SMEs

บล.ดาโอ มองมาตรการซอฟต์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท ช่วยภาคส่งออกและกลุ่ม SME จากภาษีสหรัฐแนะลงทุน KBANK-BBL พร้อมเลือก KTB ท็อปพิกในกลุ่มแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณี นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่าผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน ผ่านการลดเป้าหมายกำไรทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ สถาบันการเงินรัฐ 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบายผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft loan วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft loan โครงการอื่นเนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ, ธุรกิจซัพพลายเชน และธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SME

จากข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอซอฟต์โลน 1 แสนล้าน เยียวยาผู้ส่งออก – SMEs จากภาษีสหรัฐ  โดยธนาคารออมสินจะออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงิน 1 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ปล่อยสินเชื่อต่อในอัตราไม่เกิน 3.5% ซึ่ง จะเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสินทั้งนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการ Soft loan อื่นๆ

เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างชัดเจน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.)ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2.) ผู้ประกอบการในธุรกิจห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก

3.) ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูง กับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ นอกจากกลุ่มเป้าหมายหลักทั้งสามกลุ่มข้างต้นแล้ว โครงการยังครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs โดยรวมอีกด้วย

ขณะที่ ฝ่ายนักวิเคราะห์ มีมุมมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว โดยมองเป็นกลางต่อ Soft loan จากเหตุผลรอบนี้ที่จะให้เพียง 1 แสนล้านบาท เทียบกับสินเชื่อทั้งระบบอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อสำหรับลูกหนี้ผู้ส่งออกและ SME ซึ่งเมื่อเทียบกับรอบก่อนช่วงโควิด-19 มีการให้ Soft loan อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท แก่ลูกหนี้ SME อย่างเดียวเป็นลูกหนี้ใหม่ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้มีเพียง 23% ของวงเงินทั้งหมดหรือคิดเป็นราว 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารที่มีสินเชื่อ SME มากที่สุด คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK สัดส่วน 29% ของสินเชื่อรวม และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีสินเชื่อเกี่ยวของกับการส่งออกมากที่สุด  อย่างไรก็ดีด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัวลงทำให้ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า Risk-Reward ในการปล่อยสินเชื่อ Soft loan อาจจะไม่คุ้มค่าเพราะมีโอกาสสูงที่การตั้งสำรองหรือ Credit cost จะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนักวิเคราะห์ยังคงให้น้ำหนักการลุงทุน “เท่ากับตลาด” เลือก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็น Top pick ในกลุ่มแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25 บาท รวมไปถึงแนะนำ “ซื้อ” อาทิ BBL ให้ราคาเป้าหมาย 168 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 170 บาท

ขณะที่แนะนำ “ถือ” คือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ราคาเป้าหมาย 46 บาท, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาเป้าหมาย 120 บาท, บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ราคาเป้าหมาย 55 บาท, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ราคาเป้าหมาย 97.75 ล้านบาท และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ราคาเป้าหมาย 2 บาท

Back to top button