
“ชวินดา” ชี้ตลาดยังผันผวน แนะจัดพอร์ตยืดหยุ่น-เน้นหุ้นพื้นฐานแกร่ง รับมือความไม่แน่นอน
“ชวินดา” ชี้ตลาดทุนยังผันผวน แนะนักลงทุนวางพอร์ตให้ยืดหยุ่น เลือกหุ้นพื้นฐานแกร่ง ปันผลดี อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์โรงพยาบาล และบริการ พร้อมใช้เครื่องมือลงทุนหลากหลาย รับมือความไม่แน่นอน
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า เปิดเผยบนเวทีเสวนาในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 หัวข้อ”กี่โมง…หุ้นขึ้น” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ เมื่อวันนี้ ( 17 พ.ค.68) ว่าตลาดทุนยังคงเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความผันผวนต่อเนื่อง จากปัจจัยกระทบหลากหลายด้าน ทั้งปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ สถานการณ์ทางการเมือง สังคม ตลอดจนเหตุการณ์ในระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเรียนรู้และเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม
“การบริหารพอร์ตการลงทุนในช่วงภาวะตลาดผันผวน จำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์ที่รอบคอบ โดยเฉพาะการเลือกหุ้นที่มีเบต้า (Beta) ต่ำ เพื่อช่วยลดความผันผวนของพอร์ต เมื่อเทียบกับภาวะที่ตลาดมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ซึ่งในกรณีนั้นเราจะให้น้ำหนักกับหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม” นางชวินดากล่าว
อีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ภาคธุรกิจจัดการลงทุนให้ความสำคัญ คือ การสำรองเงินสดในระดับที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับฐาน ขณะเดียวกันยังเน้นการติดตามปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับพอร์ตและกลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น นางชวินดาระบุว่า แม้จะมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก หรือสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ แต่ตลาดยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศ โดยไม่มีแรงกดดันในระดับที่กระทบต่อดัชนีหลักอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ SET Index ณ สิ้นปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด แต่ในช่วงที่ตลาดเกิดแรงเทขายจากวิกฤตการณ์ ดัชนีเคยลดลงต่ำสุดราว 1,050 จุด หรือลดลงกว่า 30% อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ดัชนีสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของตลาดทุนไทย
อย่างไรก็ดี ปัจจัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะภาวะการลงทุนที่ชะลอตัวและกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายใน เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม
ในส่วนของภาคการเงิน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงอย่างมีวินัย แม้การปล่อยสินเชื่อจะชะลอลง แต่ธนาคารยังสามารถสร้างรายได้จากแหล่งอื่น อาทิ ค่าธรรมเนียม บริการทางการเงิน และการลงทุน
สำหรับภาคการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงแรมและสุขภาพ ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยกลับเข้าสู่ระดับที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง
ในแง่กลยุทธ์การลงทุน นางชวินดาเน้นย้ำว่า นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและอาหาร
นอกจากนี้ ยังควรใช้เครื่องมือการลงทุนที่หลากหลายเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง เช่น กองทุนที่มีลักษณะเชิงรุก หรือผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนในทิศทางตรงข้ามกับตลาด (Inverse Products)
ผลิตภัณฑ์ประเภท Inverse ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่นักลงทุนมีการถือหุ้นในสัดส่วนที่มาก และไม่สามารถประเมินทิศทางตลาดได้อย่างแน่ชัด
“การมีเครื่องมือที่หลากหลาย ไม่เพียงช่วยให้พอร์ตของนักลงทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ตลาดทุนโดยรวมมีเสถียรภาพ และมีความสมดุลในการปรับตัวทั้งขึ้นและลงอย่างยั่งยืน” นางชวินดากล่าวสรุป