สื่อนอกตีข่าว! “อิสราเอล” จ่อโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “อิหร่าน” ดันราคาน้ำมันพุ่งแรง

สื่อต่างประเทศอ้างอิงหน่วยข่าวกรองสหรัฐ เผย “อิสราเอล” เตรียมโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “อิหร่าน” ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในตลาดพลังงานโลก ดันราคาน้ำมันพุ่งแรง


สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวจากสถานีโทรทัศน์ CNN ระบุว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาได้ประเมินว่า อิสราเอลกำลังเตรียมการเพื่อโจมตีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำอิสราเอลได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายแล้วหรือไม่ แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงสั้น

โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) พุ่งขึ้นสูงสุดถึง 3.5% ก่อนจะปรับลดลงในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดยังคงเผชิญกับความผันผวนจากพาดหัวข่าวที่หลากหลายเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ซึ่งมีความหวังว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลให้ซัพพลายน้ำมันอาจล้นตลาดในช่วงปลายปี หากการเจรจาไม่คืบหน้าและสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ย่อมยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนด้านเสถียรภาพพลังงาน

ด้าน นายวิชนุ วาราธัน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคประจำเอเชียและญี่ปุ่นจากธนาคารมิซูโฮ กล่าวแสดงความกังวลว่า หากรายงานข่าวดังกล่าวเป็นจริง ความแตกต่างระหว่างการโจมตีเชิงสัญลักษณ์และการโจมตีจริงอาจลดลง ซึ่งจะบ่งชี้ถึงระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค พร้อมชี้ว่าความขัดแย้งก่อนหน้าในภูมิภาคมีแนวโน้มถูกควบคุมมากกว่านี้ โดยมีการประสานงานจากผู้มีบทบาทในภูมิภาครวมถึงสหรัฐฯ และยุโรป

ขณะที่ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เขาไม่คาดหวังว่าการเจรจาล่าสุดกับสหรัฐจะนำไปสู่ข้อตกลงใด ๆ สอดคล้องกับรายงานจาก Bloomberg Intelligence

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป ระบุว่า แม้จะยังคงมีมาตรการคว่ำบาตร อิหร่านยังสามารถส่งออกน้ำมันได้ โดยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาสามารถเพิ่มการผลิตได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากการผลิตดังกล่าวถูกจำกัด ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้นถึง 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับปัจจุบัน

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง Bloomberg ยังเตือนว่า หากสหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านในอนาคต ราคาน้ำมันดิบ WTI อาจร่วงลงต่ำสุดถึง 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดพลังงานที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างชัดเจน

Back to top button